เมื่อวันที่ 31 พ.ค. เพจเฟซบุ๊ก “ศูนย์สอบธรรมศาสตร์” โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า ฉลาดเกมส์โกง หรือ ขายวัวขายนาส่งทุยเข้าระบบราชการ? แอดมินคิดยังไงถึงจะเอาเรื่องนี้มาลง ไม่กลัวจะเป็นแนวทางให้คนเลียนแบบเหรอ?
เหรียญมีสองด้านครับ เจตนาต้องการเป็นอุทาหรณ์ และเตือนหน่วยงานที่จัดสอบให้เฝ้าระวัง มันอาจระบาดมานานแล้ว ตอนนี้การโกงสอบรับราชการ มันอาจระบาดไปถึงระดับโรงเรียน มหาวิทยาลัยแล้วก็ได้ ที่ไม่เป็นข่าวเพราะอาจจะไม่ทันเทคโนโลยีของเขา
ศูนย์สอบธรรมศาสตร์อาจไม่ใช่ศูนย์สอบที่ดีที่สุด หรือมีประวัติจัดสอบได้มากที่สุด แต่เราคือ “ศูนย์สอบที่จับทุจริตได้มากที่สุด” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเรามีรายชื่อเลขบัตรประชาชนกลุ่มบุคคลที่ทุจริต คาดว่าจะทุจริต เป็นญาติพี่น้องกับคนทุจริตอยู่เป็นร้อยรายชื่อ และใช้ตรวจสอบเฝ้าระวังในงานของหน่วยงานที่ธรรมศาสตร์เป็นผู้จัดอยู่
ตอนนี้เรากำลังสู้อยู่กับกระบวนการโกงทุจริตการสอบเข้ารับราชการครับ ที่ผ่านมาแม้เราพบเจอการทุจริต เราส่งให้หน่วยงานต่างๆ หรือแม้แต่แจ้งดำเนินคดีเอง แต่ด้วยวิธีการทางราชการและทางกฎหมาย มันยังมีช่องโหว่อยู่เยอะ ให้หลุดรอดได้ เราดำเนินการได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่เราคาดหวัง อาจจะมีพรรคการเมืองหรือผู้แทนราษฎรช่วยเสนอกฎหมายลงโทษ ผู้ทุจริตการโกงการสอบเข้ารับราชการให้เป็นรูปธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (หากผู้มีอำนาจช่วยผลักดันหรือออกกฎหมายลงโทษผู้โกงการสอบจะเป็นผลประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะกับประชาชนคนธรรมดา)
อาชีพข้าราชการเป็นอาชีพอันดับต้นๆ ที่เป็นที่นิยมมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังคำที่ว่า 10 พ่อค้าไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง (ปัจจุบันอาจเป็น 1 พ่อค้าเลี้ยง10 พระยา) แต่อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าเป็นที่นิยม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ต้นทุนชีวิตไม่สูงมากเพราะมันเป็นการเติบโตและอาชีพที่มั่นคงให้ครอบครัว ดังนั้น การสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ นับวันจะมีการแข่งขันมากขึ้น สรุปง่ายๆ คือ สอบเข้ารับราชการยากขึ้นนั่นละ

ดังนั้นจึงเป็นที่มาของกลุ่มอิทธิพลที่มีอำนาจภายในหน่วยงาน หรือเป็นช่องทางแสวงหารายได้ผลประโยชน์จากผู้ที่ต้องการ มีคนต้องการซื้อก็ต้องมีคนชั่วขาย หรือถ้าไม่มีคนขาย มันก็จะมีขบวนการโกงสอบเข้าราชการ (อยากรู้มีคดีไหนบ้างใช้ Google ค้นหาดูก็ได้ “โกงสอบ” “ทุจริตการสอบ”) สำหรับการโกงการสอบราชการนั้นเกิดขึ้นจากบุคคลสองกลุ่ม
1. โจรภายใน พวกนี้จะแฝงตัวอยู่ในคณะผู้บริหารหรือคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสอบ อาทิ การออกข้อสอบ การตรวจข้อสอบ การสอบสัมภาษณ์ การตรวจเอกสาร การประกาศรายชื่อ
2. โจรภายนอก พวกนี้ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานแต่จะใช้กลวิธีในการทำให้สอบได้ ในหนังดังเรื่องฉลาดเกมส์โกง ก็อยู่ในประเภทนี้ กลุ่มนี้จับได้ไม่ยาก ถ้าหน่วยงานมีการป้องกันที่ดี และไม่เพิกเฉยหรือประมาท
ก่อนจะลงลึกขออธิบายขั้นตอนการจัดสอบ ที่เป็นมาตรฐานก่อนคือ ปกติหน่วยงานจะมีคณะทำงาน ทำหน้าที่กำหนดแผนงาน มาตรการ วันเวลา ผู้รับผิดชอบ โดยต้องมีคณะกรรมการชุดต่างๆ (จะเป็นคนของหน่วยงานหรือของสถาบันการศึกษาก็ได้)
กรรมการออกข้อสอบ โดยหลักแล้วต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้น หรือมีประสบการณ์และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริหารในหน่วยงาน หรือถ้าให้มหาวิทยาลัยจัดสอบก็จะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย (เพราะคนกลุ่มนี้ ต้นทุนทางสังคมสูง และหากเกิดข้อผิดพลาดยังมีกระบวนการทางวินัยตามมา)
กรรมการคัดเลือกข้อสอบ (คนละชุดกับการออกข้อสอบ) ทั้งนี้ส่วนใหญ่ถ้าเป็นงานที่มีคนสอบเยอะต้องมีการเก็บตัวกรรมการ ทั้งคนออกและคนเลือกข้อสอบ
กรรมการจัดพิมพ์ต้นฉบับ และกรรมการพิมพ์ข้อสอบ กระดาษคำตอบ (กลุ่มนี้ เก็บตัว 100%)
กรรมการคุมสอบในห้องสอบ ต้องเป็นคนที่ได้ฝึกอบรมหรือผ่านการประชุมเรื่องการสอบมา ต้องไม่มีความสัมพันธ์กับผู้สอบและต้องไม่นำเครื่องมือสื่อสารเข้าไปในห้องสอบ
กรรมการตรวจเฉลยข้อสอบ (ต้องไม่ใช่ผู้ออกข้อสอบและผู้เลือกข้อสอบ) ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของเฉลยข้อสอบก่อนตรวจ (ข้อฟรี จะเกิดจากกรรมการชุดนี้)
การตรวจข้อสอบ จะทำทันทีหลังการสอบเสร็จสิ้น เพราะถ้าค้างคืนดินสอวิเศษจะทำงาน (99% หลังการสอบ ถ้าเป็นของศูนย์สอบธรรมศาสตร์จะทำการตรวจข้อสอบทันที จะมีคณะกรรมการจากหน่วยงานที่สอบเป็นพยาน) ทั้งนี้ เครื่องตรวจข้อสอบ 1 เครื่องสามารถตรวจได้ 6,000 คน/ชม. ถ้ามีหลายเครื่องก็คูณไป (ตรวจข้อสอบแป๊บเดียวเอง)
กระดาษคำตอบที่ผ่านการตรวจแล้ว ที่ปกติคือต้องมีการตีตัวเลขคะแนนลงในกระดาษคำตอบนั้นทันที (ตัวอย่างใบคะแนนสอบสายบริหารท้องถิ่นปีที่แล้ว ที่ส่งให้ผู้สอบก็แบบนี้)
ประกาศและรายชื่อผู้สอบ โดยปกติสถาบันการศึกษา จะต้องประทับตราเก็บไว้เป็นต้นฉบับ ส่วนหน่วยงานก็จะนำไปตรวจสอบและประทับตราหน่วยงานเพื่อประกาศจริง (ป้องกัน รายชื่อกระโดด)
การสอบสัมภาษณ์ ถ้าหน่วยงานที่มีคุณธรรม จะส่งแค่รายชื่อกรรมการมา แล้วให้กรรมการจับสลากโต๊ะสัมภาษณ์ 15-30 นาทีก่อนสอบ โดยปกติจะมีการกำหนดขอบเขต ช่วงคะแนนไว้ ส่วนใหญ่หน่วยงานที่ใช้สัมภาษณ์ที่ธรรมศาสตร์จะใช้วิธีการแบบนี้ละ
การตรวจให้คะแนนประวัติหรือผลงาน กรรมการของหน่วยงานจะเป็นคนตรวจเอง แต่ส่วนใหญ่ เขาก็มีเกณฑ์วิทยาศาสตร์ในการให้คะแนนอยู่และตรวจสอบความผิดปกติได้ไม่ยาก
สำหรับข้อ 1 เรื่องโจรภายใน ก็อาศัยช่องทางต่างๆ ในระบบนี้นี่แหละครับ ขอไม่ลงลึกในรายละเอียดเพราะไม่อยากถูกร้องเรียน
สำหรับข้อ 2 โจรภายนอก กลุ่มนี้จะมีกระบวนการดังนี้
จะมีนายหน้า ติดต่อไปที่ครอบครัว หรือตัวบุคคลที่กำลังสอบหรือสมัครงานราชการ ส่วนใหญ่คนที่ยอมรับและจ่ายเงินให้คือพ่อและแม่ของผู้สอบ ผู้ทุจริตบางคนให้ข้อมูลว่าพ่อแม่เป็นคนจ่ายให้
อัตราที่จ่าย จ่ายกันเท่าไหร่? ขึ้นอยู่การผ่านนายหน้ามากี่ต่อ และความนิยมของหน่วยงานนั้น หรือ package เช่น พาสอบทั้งภาค ก และภาค ข ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 3-8 แสนบาท โดยจะมีการแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ เช่น มัดจำ 2 แสน ผ่าน ก 1 แสน ผ่าน ข 2 แสน ได้บรรจุจ่ายที่เหลือ

ตำแหน่งที่เสี่ยงต่อการทุจริตมากที่สุด
ตำแหน่งที่รับวุฒิการศึกษาได้ทุกวุฒิ เช่น ตำแหน่งนักจัดการ นักทรัพยากรบุคคล
เขาโกงสอบได้อย่างไร
ถ้าสมัยก่อนจะใช้วิธีพ่อไก่แม่ไก่ เหมือนในหนังละครับ เอาคนเก่งเข้ามา แล้วส่งโพยให้ลอกจะผ่านดินสอหรือยังลบหรือกระดาษก็ได้ แต่วิธีการนี้ปัจจุบันใช้ไม่ได้แล้ว เพราะข้อสอบมีหลายชุดและมีการกระจายคนไม่ให้สอบติดกัน
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มขบวนการพัฒนาจากเครื่องส่งสัญญาณแบบสั่น มาใช้อุปกรณ์ติดซิมโทรศัพท์ โดยกล่องที่ติดจะมีขนาดเล็กกว่ากล่องไม้ขีดไฟ ปัจจุบันก็พัฒนาไปอีก เป็นติดอยู่ในบัตรคล้ายบัตรเครดิตหรือบัตรเอทีเอ็ม (มีรูป) อุปกรณ์เหล่านี้บางกล่องต้องต่อลวดเพื่อคอยรับสัญญาณจากผู้ส่ง และจะมีหูฟังขนาดเม็ดถั่วดำฝังอยู่ในหูทั้งสองข้างของผู้สอบ
กลุ่มขบวนการมีวิธีการให้คนเก่ง หรือมือปืน หลายคนเข้ามานั่งสอบ แล้วรวบรวมข้อมูลส่งคำตอบไปให้คนนอกห้องสอบ (ส่วนใหญ่จะมาเช่าหอพักใกล้สนามสอบ เพราะกลุ่มนี้ต้องเรียกผู้สอบเข้ามาสอนการใช้เครื่องมือรวมถึงการติดอุปกรณ์) คนที่อยู่ในห้องพักจะรวบรวมข้อมูลจากมือปืน ที่แจ้งคำตอบในห้องสอบออกมา เพื่อรวบรวมทำโพยเฉลยชุดข้อสอบ บางงานสอบก็ทำสำเร็จ บางงานสอบก็ทำไม่สำเร็จครบทุกข้อเพราะข้อสอบมีหลายชุด ช่วงเวลาของการส่งสัญญาณจะอยู่ที่ประมาณ 45 นาทีสุดท้ายก่อนหมดเวลาสอบ โดยผู้สอบจะเคาะขอสัญญาณ คนทำโพยก็จะคอยบอกคำตอบส่งเสียงมาตามหูฟัง หูฟังนี้จะถูกฝังอยู่ในรูหู เครื่องสแกนโลหะจะตรวจไม่พบ ส่วนกล่องหรือบัตรที่ใส่ซิมมือถือส่วนใหญ่กลุ่มผู้สอบทุจริตจะซ่อนอยู่ในเป้ากางเกงหรือซ่อนอยู่ใต้นมเพื่อไม่ให้เครื่องสแกนตรวจพบ
มั่นใจได้อย่างไรว่าไม่มีผู้ทุจริตหลุดรอด ข้อเท็จจริงคือเราอาจจะตรวจ จับอุปกรณ์ไม่ได้ทั้งหมด แต่เราใช้วิธีการตรวจจากผลเฉลย ประกอบทุกครั้ง ยกตัวอย่างเช่นในแต่ละการสอบ โพยเฉลยจะไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่นเขาส่งสัญญาณมาได้ 98 ข้อ เป็นข้อที่ถูกต้อง 80 ข้อ มีข้อผิด 18 ข้อ เราก็ใช้ 18 ข้อนี้มาหาความน่าจะเป็น เพราะโอกาสที่ผู้สอบจะเลือกตอบผิดเหมือนกัน 18 ข้อคือ 1 ใน 68,179 ล้าน
ผิดเหมือนกัน 15 ข้อจาก18 ข้อ 1 ใน 3 ล้าน รวมถึงการกลับไปตรวจตัวต้นฉบับข้อสอบและกระดาษคำตอบเมื่อมีรอยพิรุธหรือไม่
กลุ่มที่มีหลักฐานเราดำเนินคดี ส่วนกลุ่มที่ไม่มีหลักฐานที่ใช้การวิเคราะห์ ai ศูนย์สอบธรรมศาสตร์จะไม่ออกผลสอบให้ และพร้อมสู้คดีเพราะมีหลักฐานอื่นๆ ประกอบไว้โดยตลอด อุปกรณ์การทุจริตเช่นมือถือโดยเฉพาะ iPhone คดีที่หมดอายุความหรือมีการพิจารณาไปแล้วส่วนใหญ่เราจะไปฝังไว้กับรากมะม่วงในสวนสอบนี่แหละครับ
ขอบคุณที่ติดตามอ่านจนจบ หากมีโอกาสจะเขียนภาคสองให้ลงลึกมากกว่านี้ ที่ไม่ลงลึกเพราะกลัวครับ หนี้สหกรณ์ผมยังเยอะ เกรงใจบอสด้วย บอสก็หนี้เยอะพอกันที
นอกจากนี้ยังคอมเมนต์ใต้โพสต์ด้วยว่า “วัตถุประสงค์ในการเผยแพร่เรื่องนี้ ไม่ได้สนับสนุนให้เลียนแบบ แต่ต้องการเตือนสติ ทั้งหน่วยงานและสังคมให้รู้เท่าทัน เปรียบเทียบให้เห็นว่า “เหรียญมีสองด้าน” เรื่องจริงบางอย่างต้องถูกเปิดเผย เพื่อไม่ให้ระบบล่มสลายจากภายใน”