เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ตั้งแต่ช่วงเช้า ที่วัดสระขี้ตุ่น ต.หนองตะเกียด อ.ด่านขุนทด  จ.นครราชสีมา นักปกป้องสิทธิกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด พร้อมด้วยขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยรวมตัวกันเดินทางไปยังตัวเมืองจ.นครราชสีมา เพื่อร่วมเดินรณรงค์ต้านเหมืองโปแตซภายใต้ชื่อ “ซิ่งทะยานต้านเหมืองโปแตชอีสาน”  โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีชาวบ้านมารวมตัวกันอย่างพร้อมเพรียง พร้อมมีการจัดแต่งศิลปะขบวนรถเพื่อสื่อสารประเด็นของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองโปแตช   โดยขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยได้ผลัดกันขึ้นปราศรัยให้ความรู้ทั้งเรื่องผลกระทบจากการทำเหมือง รวมทั้งกรณีบริษัทเอกชนด้านพลังงานของไทยจับมือทุนจีนเพื่อทำการระเบิดอุโมงค์เปิดเหมืองรอบสอง เป็นต้น ทั้งนี้ขบวนได้เคลื่อนมาถึงบริเวณหน้าศาลากลาง จ.นครราชสีมา  โดยมีการตั้งแถว ชูธง และถือป้ายผ้า พร้อมตั้งเวทีปราศรัยย่อย

ขณะที่น.ส.ปรานม สมวงศ์ จากองค์กร Protection International กล่าวว่า การร่วมแรงร่วมใจของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดและขบวนผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ครั้งนี้ ไม่ใช่แค่การเดินเท้าต้านเหมืองโปแตช แต่คือการส่งเสียงถึงรัฐไทยในจังหวะสำคัญที่กำลังจะไปรายงานต่อคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ(Committee on the Elimination of Discrimination against Women – CEDAW) ว่าเสียงของผู้หญิงที่ลุกขึ้นปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม ไม่ควรถูกเพิกเฉยหรือละเลยอีกต่อไป รัฐไทยต้องลงมือปกป้องและคุ้มครองพวกเธออย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงเพื่อทำตามพันธกรณีระหว่างประเทศ แต่เพราะนี่คือความยุติธรรมพื้นฐานที่ผู้หญิงไทยทุกคนพึงได้รับ”

น.ส.จุฑามาส หัตถาผดุงกิจ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ปรึกษากลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กล่าวว่า หลายครั้งหลายคราที่พวกเราต้องผิดหวังจากผู้ใหญ่ในบ้านเมือง  โดยเฉพาะ การดำเนินงานของผู้ว่าฯ จ. นครราชสีมา สิ่งที่พวกเรามา ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหา เนื่องจากตอนนี้ที่จ.นครราชสีมา บ้านของเรา ที่ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด กำลังมีเหมืองโปแตช ซึ่งเป็น 1 ใน 3  เหมืองแร่ได้ประทานบัตรไปแล้ว  โดยเหมืองแร่ที่หนองไทร บ้านของเรา ได้เกิดผลกระทบแล้ว ผืนดิน แผ่นน้ำเกิดความเค็ม ปลูกพืชอะไรไม่ได้  หลายครั้งที่เรามาเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ แต่ก็ไม่เคยได้รับการตอบสนอง

“ที่ผ่านมาโคราชมีผู้ว่าฯมา 3 คนแล้ว ที่ลงไปเหยียบในพื้นที่ ได้เห็นมากับตา ว่าแผ่นดิน ผืนน้ำบ้านของเรามีปัญหาอะไร แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้รับการแก้ไข นอกจากนี้พวกเรายังต้องต่อสู้ ยังต้องออกมาเรียกร้อง ใช้เวลาหลายปี กว่าจะได้คณะทำงานเข้ามาตรวจสอบผลกระทบเมื่อปีที่แล้วนี่เอง โดยคณะทำงานจะมีจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดในสัดส่วนครึ่งหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่เลวร้ายคือ คณะทำงานถูกแช่แข็ง ผู้ว่าฯ ก็ไม่ขยับ  ใครก็ไม่ขยับ เพราะอะไร ก็เพราะขณะนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ เข้ามาถือหุ้นใหญ่เหมืองแร่โปแตช บริษัท ไทยคาลิ  ทำให้หน่วยงานราชการนิ่งเงียบเป็นเป่าสาก แต่ที่เลวร้ายกว่านั้น ได้มีทุนจีนจากเข้ามาทำสัญญา บอกว่าจะเข้ามาทำอุโมงค์ด้วยการใช้ระเบิดเหมืองรอบสอง ซึ่งเรากังวลอย่างมากว่า จะซ้ำรอยเหมือนกับสตง.ที่ถล่ม ”น.ส.จุฑามาส กล่าว

นางเนืองนิด ชิดนอก ตัวแทนผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ เครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า แปลกใจที่ผู้ว่าฯ นครราชสีมานิ่งเฉยกับความเดือดร้อนของชาวบ้าน สิ่งเร่งด่วนที่สุดคือคณะทำงานฯ ต้องเปิดประชุมอย่างเร่งด่วนเป็นพรุ่งนี้ได้ยิ่งดี อย่าให้เกิน 1 เดือนตามที่พวกเรากำหนด ถ้าไม่มีความคืบหน้า พวกเราขบวนผู้หญิงจะมาชุมนุมใหญ่ร่วมปกป้องสิทธิชาวด่านขุนทดแน่นอน

จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้ร่วมกันตั้งแถว เพื่อร่วมกันเดินรณรงค์ต้านเหมืองโปแตช พร้อมมีชาวบ้านแต่งตัวเป็นบอมเบอร์เกิร์ล ผีบริษัทเอกชนด้านพลังงาน  เป็นเชิงสัญลักษณ์มาคอยแจกใบปลิว พร้อมมีการให้ติดสติ๊กเกอร์ปิดระเบิด เพื่อไม่ให้เกิดระเบิดลูกแรก ท่ามกลางความสนใจของประชาชนในเขตเมืองจำนวนมาก

ทั้งนี้การเดินรณรงค์ ได้มีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบมาคอยถ่ายรูป ตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะตำรวจนอกเครื่องแบบ ที่ไม่มีการห้อยบัตรแสดงตน จะมีการถ่ายเลขทะเบียนรถของกลุ่มผู้ชุมนุมไว้ด้วย จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินเท้ามาถึงบริเวณลานย่าโม เพื่อทำกิจกรรม ตัดชนวนระเบิด ยุติระเบิดลูกแรก ด้วยการให้ผู้แสดงเป็นผีทำการกลิ้งระเบิดจำลอง ไปมา เพื่อแสดงให้เห็นว่า ระเบิดกำลังจะมาที่ชุมชนแล้ว พร้อมเชิญชวนประชาชนที่สนใจร่วมกันตัดชนวนระเบิด ต่อมาผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด พร้อมภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันตัดชนวนระเบิดเพื่อไม่ให้เกิดระเบิดลูกแรก ปิดท้ายด้วยการร้องเพลงต้านเหมือง  พร้อมชูมือแสดงพลังและส่งเสียงต้านเหมืองกึกก้องเป็นการปิดท้าย.