นายบุญเชิด กิตติธรางกูร รองผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า ศรัทธาปลอม ภัยต่อเพศพรหมจรรย์ – เตือนภัยพระภิกษุสามเณร ยุคใหม่ ในยุคปัจจุบัน เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้า ปัญหาทางศีลธรรมก็ก้าวล้ำขึ้นตาม หากไม่ระวังเพียงพอ แม้แต่ผู้บำเพ็ญตนอย่างพระภิกษุสามเณร ก็อาจตกเป็นเหยื่อของ “มิจฉาชีพ” ที่แฝงตนมาในคราบ “คนมีศรัทธา”
รูปแบบของภัย วางกับดักด้วยศรัทธา แล้วใช้มารยาหญิงล่อลวง มีมิจฉาชีพหญิงสาวจำนวนหนึ่ง อ้างตนว่าเป็นผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา สนใจในธรรม สนทนาไต่ถามพระภิกษุสามเณรด้วยความนอบน้อม เรียก “หลวงพี่เจ้าขา” หรือ “พระคุณเจ้าเจ้าคะ” อย่างสุภาพ จนทำให้ผู้ฟังวางใจ โดยจะสังเกตเห็นว่า แต่ละเคส คือ “เป้าหมายที่ถูกคัดเลือกแล้ว” ต่อมาจึงเชื้อเชิญให้สนทนาธรรมผ่านวิดีโอคอล ในตอนแรกดูเหมือนเจตนาดี แต่ไม่นานนัก หญิงสาวจะใช้เล่ห์กลเปิดเผยเรือนร่าง หรือทำท่าทางยั่วยวน เพื่อเร่งเร้าให้พระกระทำสิ่งผิดเพศพรหมจรรย์ เช่น ชวนถอดจีวร เปิดเผยสรีระ หรือ “สไลด์หนอน” (สำเร็จความใคร่ตนเอง) เมื่อฝ่ายพระหลงเชื่อหรือตอบสนอง ก็จะถูกบันทึกภาพ หรือคลิปไว้ทันที จากนั้นจึงใช้เป็นเครื่องแบล็กเมล์ ข่มขู่เรียกเงินทอง หรือข่มขู่ให้สึก หากไม่ยอม จะเผยแพร่ภาพอื้อฉาวต่อสาธารณะ
ภัยนี้ร้ายอย่างไร ทำลายเพศพรหมจรรย์ สั่นคลอนศรัทธาของญาติโยมทั้งหลาย กลายเป็น “ข่าวฉาว” ซึ่งเป็นเชื้อไฟให้พระพุทธศาสนาถูกดูหมิ่น อาจถูกฟ้องร้องทั้งทางโลกและทางธรรม สุดท้ายอาจต้องสึกจากผ้าเหลืองโดยไม่เต็มใจ สำหรับข้อเตือนภัยสำหรับพระภิกษุสามเณร 1. จงสำรวมอินทรีย์แม้ในโลกออนไลน์แม้จะอยู่ในวัดก็ใช่ว่าจะปลอดภัย หากไม่ระวังอินทรีย์ ก็เหมือนเปิดประตูวัดให้โจรใจชั่วเข้ามา 2. อย่ารับวิดีโอคอลจากบุคคลแปลกหน้าโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะหญิงสาวที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน อย่าหลงเชื่อแม้จะพูดจาไพเราะหรือแสดงตนว่าศรัทธาอย่างมาก 3. อย่าหลงไปคิดว่าตน “คุมได้” หรือ “รู้เท่าทัน” อัตตานัง อลํ อภินิเวสาย อย่าได้ประมาทในตนเอง เพราะมารในใจมีฤทธิ์ไม่แพ้ภัยภายนอก 4. หากเผลอพลาด ให้รีบปรึกษาผู้ใหญ่ในคณะสงฆ์โดยไม่ปิดบัง การยอมรับผิดและตั้งใจแก้ไข ย่อมดีกว่าปิดบังจนภัยใหญ่บานปลาย 5. ควรใช้โซเชียลมีเดียอย่างโปร่งใส เช่น ผ่านเพจวัดหรือมีพระเถระร่วมดูแล ป้องกันการติดต่อเฉพาะตัวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นพิเศษ และ “มีสติตลอดเวลา”