เรียกได้ว่าทำเอากระแสสังคมต่างแชร์สนั่น หลังจากก่อนหน้านี้มีหมอดูทำนายคนดังได้ออกมาเผยว่า ภูเขาไฟที่หลับจะตื่นในช่วง ส.ค.-ก.ย. 68 จังหวัดตัวย่อ ส.บ.น. ทางอีสานตอนบน ขณะที่หลายคนก็เชื่อโดยมองว่าหมอดูรายนี้แม่นยำ นอกจากนี้ความเห็นบางส่วนมองว่าเป็นไปไม่ได้เนื่องจากภูเขาไฟโซนนั้นหยุดปะทุไปแล้วนานกว่าหมื่นล้านปี ส่งผลให้เรื่องราวดังกล่าวเกิดข้อถกเถียงในสังคมล้นหลามอีกด้วย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเพจเฟซบุ๊ก มิตรเอิร์ธ – mitrearth ของ ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ให้ความเห็นแย้งคำทำนายซึ่งระบุว่า “ส.ค.-ก.ย. 68 จะไม่มีภูเขาไฟปะทุ ในจังหวัด ส. บ. น. ไม่ได้หลับครับ เขาตายแล้ว”

นอกจากนี้ ศ.ดร.สันติ ยังแนบเว็บไซต์ที่ตนเองเคยวิเคราะห์เรื่อง โอกาส ภูเขาไฟปะทุ ที่เมืองไทย ระบุว่า “บทความนี้อยากจะขอเคลียร์เรื่องภูเขาไฟ ว่าที่บุรีรัมย์ รวมทั้งที่เราไล่เคลมๆ กันว่าเป็นภูเขาไฟในจังหวัดอื่นๆ มีโอกาสจะปะทุ บ้างไหม ในปัจจุบัน”

ภูเขาไฟ (volcano) คือ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่โลกพยายามคลายความร้อนภายในโลกออกสู่ภายนอกในรูปแบบการปะทุของ หินหนืด (molten rock) ซึ่งเหตุที่ทำให้แผ่นดินไหวมักจะเกิดช่วงที่ภูเขาไฟกำลังจะปะทุ ก็เพราะความพยายามแทรกดันของแมกมาขึ้นมาตามรอยแตกของหิน ทำให้หินแตกและเกิดแผ่นดินไหวใกล้กับตำแหน่งของภูเขาไฟ และมักเกิดกระจุกๆ เป็นร้อยๆ พันๆ ครั้ง

แน่นอนว่าจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีร่องรอยของภูเขาไฟอยู่หนาแน่น ไม่ว่าจะเป็น เขาพนมรุ้ง ภูพระอังคาร เขากระโดง หรือจังหวัดใกล้เคียง เช่น เขาพนมสวาย จ.สุรินทร์ ภูฝ้าย จ.ศรีสะเกษ เขาพลอยแหวน จ.จันทบุรี รวมไปถึง ภูเขาไฟดอยผาคอกหินฟู และ ภูเขาไฟจำป่าแดด จ.ลำปาง

ซึ่งนับตั้งแต่โลกเกิดขึ้นมากว่า 4,600 ล้านปี มีหินหนืดไหลขึ้นมาบนพื้นโลกผ่านกระบวนการปะทุของภูเขาไฟอย่างนับไม่ถ้วน โดยในบรรดาภูเขาไฟที่ยังมีให้เห็นอยู่บนโลก หลายลูกก็ดับสนิทไปแล้ว ในขณะที่บางลูกก็ฮึ่มๆ พร้อมปะทุได้ทุกเวลา ซึ่งในทางธรณีวิทยา นิสัยคร่าวๆ ที่นักธรณีวิทยาใช้แยกความดุหรือความมีภัยพิบัติของภูเขาไฟคือ ความถี่ของการปะทุและเวลาการปะทุครั้งล่าสุดของภูเขาไฟในแต่ละลูก ซึ่งก็แบ่งภูเขาไฟที่มีอยู่บนโลกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1) ภูเขาไฟดับสนิท (extinct volcano) คือ ภูเขาไฟที่ไม่มีประวัติการปะทุและไม่มีสัญญาณทางวิทยาศาสตร์ว่ามีกิจกรรมทางภูเขาไฟอยู่ใต้พื้นที่นั้น เช่น ภูเขาไฟคีรีมันจาโร (Kilimanjaro) ในแอฟริกา ภูเขาไฟอีเกอร์มอนท์ (Egremont) ในนิวซีแลนด์ เป็นต้น

2) ภูเขาไฟสงบหรือภูเขาไฟที่ยังหลับ (dormant volcano) คือ ภูเขาไฟที่ไม่มีประวัติการปะทุในช่วง 10,000 ปี แต่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่ายังมีกิจกรรมทางภูเขาไฟอยู่ เช่น เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กหรือการรั่วซึมของก๊าซต่างๆ ในพื้นที่ภูเขาไฟ เช่น ภูเขาไฟฟูจิ (Fuji) ประเทศญี่ปุ่น ภูเขาไฟเรนเนียร์ (Rainier) ในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

3) ภูเขาไฟมีพลัง (active volcano) คือ ภูเขาไฟที่มีประวัติการปะทุในช่วง 10,000 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งจากการสำรวจพบว่าปัจจุบันมีภูเขาไฟที่ยังมีพลังอยู่อย่างน้อย 500 ลูก ทั่วโลก เช่น ภูเขาไฟเมราปี (Merapi) ในประเทศอินโดนีเซีย ภูเขาไฟเซนต์เฮเลนส์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ซึ่งจากการสำรวจทางธรณีวิทยา ของนักธรณีวิทยาไทยรุ่นใหญ่ในอดีตพบว่า ซีรีส์การปะทุของภูเขาไฟครั้งล่าสุดในบ้านเรา นับถัวๆก็ประมาณเมื่อ 9 แสนปีก่อน สิ่งภูเขาไฟชุดนี้ ได้แก่ เขาพนมรุ้ง ภูพระอังคาร เขากระโดง ของ จ.บุรีรัมย์ เขาพนมสวาย จ.สุรินทร์ ภูฝ้าย จ.ศรีสะเกษ เขาพลอยแหวน จ.จันทบุรี และ ดอยผาคอกหินฟู ดอยจำป่าแดด ใน จ.ลำปาง มะ !!! ทีนี้เรามาช่วยกันเคลียร์ทีละประเด็นครับ

1) ภูเขาไฟสัญชาติไทยเหล่านี้ เป็นภูเขาไฟที่ยังมีพลังหรือไม่ ? คำตอบคือไม่มีพลังแล้วครับ เพราะไม่เคยปะทุมาเลยเป็นเวลาเกิน 10,000 ปี ตามนิยามที่ผู้เขียนอธิบายไว้ด้านบน

2) หลับเหรอ ? แน่นอนว่า ต่อให้ไม่เคยปะทุมาเลยเกิน 10,000 ปี แต่หากข้างใต้โลกยังมีสัญญาณ หรือกิจกรรมอะไรร้อนๆ อยู่ ก็ถือได้ว่า ภูเขาไฟลูกนั้นอาจจะมีโอกาสกลับมาปะทุได้อีก ซึ่งจากการสืบค้นภูเขาไฟทั่วโลก ผู้เขียนพบว่ามีรายงานกรณีที่ ภูเขาไฟเกือบจะหลับ แต่กลับมาได้อยู่บ้าง แต่ที่เห็นนอนยาวที่สุดและยังมึน ตื่นมาปะทุอีกครั้งคือกรณีของ ภูเขาไฟฟากราดาลส์ (Fagradals) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไอซ์แลนด์ ซึ่งหลับไปนานกว่า 6,000 ปี ก่อนจะกลับมาปะทุอีกครั้งในปี ค.ศ. 2019

ซึ่งก็อย่างที่บอกไปในตอนต้นว่า ภูเขาไฟสัญชาติไทยของเราปะทุครั้งล่าสุดเมื่อ 9 แสนปีที่แล้ว หลับนานขนาดนี้ กรรมการนับ 10 ไปหลายรอบแล้วครับ ผู้เขียนว่าเคสนี้เรียกเปลสนาม หามลงอย่างเดียว เพราะต่อให้ทดเวลาบาดเจ็บ ก็ไม่น่าฟื้นครับ

อีกเหตุผลสนับสนุน ที่จะทำให้มั่นใจว่าภูเขาไฟไทย ไม่น่าจะปะทุขึ้นมาอีกแล้วคือ ภูเขาไฟจะปะทุได้ ข้างใต้ต้องมีแมกมา ซึ่งในทางธรณีวิทยา
1) ใต้เปลือกโลกทั่วไปไม่ได้มีแมกมา
2) แมกมาจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีสภาพแวดล้อมทาง ธรณีแปลสัณฐาน (tectonic) เฉพาะตัว
ซึ่งปัจจุบันนี้สภาพแวดล้อมทางธรณีแปลสัณฐานที่จะทำให้เกิดแมกมาและภูเขาไฟปะทุในประเทศไทย ไม่มีอีกแล้ว ทั้งหมดได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว นี่จึงเป็นเครื่องยืนยันในทางธรณีวิทยาว่า ปัจจุบันนี้ไม่มีแมกมาใต้แผ่นดินไทย และจะไม่มีภูเขาไฟปะทุขึ้น และสรุปว่า ซาก ภูเขาไฟ ที่เราเห็นกันอยู่เมืองไทย ตายอย่างสงบ ศพสีชมพูไปแล้ว ครับผม…

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @มิตรเอิร์ธ – mitrearth