เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ สำนักงาน ป.ป.ส. (ดินแดง) กรุงเทพฯ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานการเปิดการนำเสนองานวิจัยประมาณการจำนวนประชากรผู้ใช้สารเสพติดของประเทศไทย เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจากทุกหน่วยงาน ทราบถึงปัญหาและสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ ไปต่อยอดต่อการปฏิบัติในระดับพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ อภิปรายโดย รศ.ดร.มานพ คณะโต ประธานคณะกรรมการบริหารเครือข่ายองค์กรวิชาการสารเสพติด และในฐานะ ผอ.ศูนย์วิทยาการเสพติด มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล และ รศ.พ.ต.ต.หญิง ดร.พูนรัตน์ ลียติกุล คณะกรรมการบริหารเครือข่าย องค์กรวิชาการสารเสพติด และในฐานะรองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล
สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับคณะกรรมการบริหารเครือข่ายองค์กรวิชาการสารเสพติด ทำการศึกษาวิจัยสำรวจครัวเรือนทั่วประเทศ เพื่อคาดประมาณจำนวนผู้ใช้ยาเสพติดในประเทศไทย พ.ศ. 2567 รวมถึงความชุกของผู้ใช้สารเสพติด จำแนกตามชนิดยาหรือสารเสพติด รูปแบบ และลักษณะการใช้สารเสพติดของประชากรในประเทศไทย จากผลการสำรวจ พบว่าประชากรไทยอายุระหว่าง 12–65 ปี ในรอบปีที่ผ่านมา มีประชากรประมาณ 3.8 ล้านคน ใช้กระท่อมประมาณ 1.9 ล้านคน ใช้สารเสพติด 1.6 ล้านคน ใช้กัญชา 1.5 ล้านคน ใช้ยาบ้า 1.5 ล้านคน ทั้งนี้ ควรเข้ารับการบำบัดรักษา จำนวนประมาณ 330,000 คน มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ประมาณ 220,000 คน
นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังพบว่า “ยาบ้า” เป็นยาเสพติดที่มีการใช้มากที่สุดและเป็นปัญหายาเสพติดของประเทศไทย ซึ่งต้องยกระดับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน รองลงมา คือ ยาอี เฮโรอีน ไอซ์ เคตามีน ฝิ่น โคเคน และสารระเหย ตามลำดับ สำหรับในรอบปีที่ผ่านมา มีผู้ใช้สารผสม จำนวน 21,000 ราย ซึ่งสะท้อนถึงกลุ่มประชากรย่อยที่มีความเสี่ยงสูงกลุ่มใหม่ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการบำบัดรักษาที่เฉพาะเจาะจง เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวอาจมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพที่รุนแรง และมีความยากลำบากในการจัดการกับผลกระทบจากสารเสพติดหลายชนิดที่ทำปฏิกิริยาต่อกัน
ทั้งนี้ ในปี 2568 สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ผนึกกำลังกับหน่วยงานภาคีอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามเร่งรัดการบำบัดรักษา ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด (ศปก.ครส.) ทั่วประเทศ พร้อมประชุมกำกับ ติดตามงานกับศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดในระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าหน่วยงานระดับจังหวัด 2 ครั้งต่อเดือน เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการทำงานและการขับเคลื่อนในเชิงพื้นที่อย่างมีประสิทธิผล รวมถึงบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และแก้ไขปัญหายาเสพติดได้อย่างทันท่วงที.