“วิศรา หุ่นธานี” ผู้อำนวยการฝ่ายมลพิษ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยภาพรวมของสถานการณ์ขยะพลาสติกในปัจจุบัน พร้อมทั้งแนวทางจัดการที่ทุกภาคส่วนสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยระบุว่า มีการผลิตขยะพลาสติกสูงถึง 400 ล้านตันต่อปี แต่กลับมีเพียง 9% เท่านั้นที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลอย่างเหมาะสม ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่ถูกเผา ฝังกลบ หรือหลุดรอดลงสู่ทะเล ซึ่งกลายเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตทางทะเลอย่างต่อเนื่อง

ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่น ถุงหูหิ้ว หลอด แก้วน้ำ และกล่องโฟม แม้จะใช้งานง่ายและมีต้นทุนต่ำ แต่กลับสร้างปัญหาระยะยาวต่อระบบนิเวศอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะเมื่อขยะเหล่านี้หลุดเข้าสู่แหล่งน้ำหรือมหาสมุทร ไม่เพียงแต่จะสร้างความเสียหายต่อทัศนียภาพเท่านั้น แต่ยังคุกคามสัตว์ทะเลที่อาจกลืนกินเศษพลาสติกโดยไม่รู้ตัว ยิ่งไปกว่านั้น “ไมโครพลาสติก” ซึ่งเป็นพลาสติกขนาดจิ๋วที่เกิดจากการแตกตัวของพลาสติกขนาดใหญ่ ได้เริ่มปรากฏในแหล่งน้ำ อาหาร และแม้แต่ในร่างกายมนุษย์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังเร่งศึกษาผลกระทบระยะยาวของสิ่งเหล่านี้

ภายใต้แนวคิด “Beat the Plastic Waste” ปีนี้ ไม่ได้เป็นเพียงการให้ข้อมูลหรือชี้ให้เห็นถึงปัญหาเท่านั้น แต่ยังเป็นการเชิญชวนให้ทุกภาคส่วน ตั้งแต่บุคคล องค์กร ชุมชน ไปจนถึงภาครัฐ ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยเสนอแนวทางปฏิบัติง่าย ๆ
ที่สามารถเริ่มต้นได้ทันที อาทิ การลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว พกถุงผ้า แก้วน้ำ หรือกล่องอาหารส่วนตัว สนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายหรือรีไซเคิลได้ และการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเพื่อให้ระบบรีไซเคิลทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสนับสนุนนโยบายควบคุมพลาสติกอย่างจริงจัง

แม้พฤติกรรมของแต่ละบุคคลจะมีความสำคัญ แต่การเปลี่ยนแปลงในระดับระบบก็จำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยประเทศไทยมีความพยายามในการจัดการปัญหาขยะพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรม ผ่าน “แผนโรดแม็ปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561–2573” ซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อให้มีการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายดังกล่าวยังคงต้องการการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติก การผลักดันธุรกิจรีไซเคิลแบบครบวงจร หรือการลงทุนในวัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษในปี 2567 ระบุว่า ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณ 2.24 ล้านตันต่อปี ทว่าสามารถรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้เพียง 25.4% เท่านั้น ซึ่งส่งผลให้ไทยยังคงติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกที่มีขยะพลาสติกหลุดรอดสู่ทะเลมากที่สุด และสำหรับปีงบประมาณ 2567 กรมควบคุมมลพิษได้จัดสรรงบประมาณกว่า 20 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางให้สอดคล้องกับการจัดการที่ปลายทาง ตลอดจนส่งเสริมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ให้ครบวงจรภายใต้แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน
สำหรับการจัดการปัญหาขยะพลาสติก แนวทางพื้นฐานที่ยังคงมีความสำคัญคือหลัก 3R ได้แก่ 1. Reduce การลดการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็น, 2. Reuse การนำกลับมาใช้ซ้ำ และ 3. Recycle การรีไซเคิลให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ยังมีการผลักดันให้ใช้วัสดุทดแทนที่ย่อยสลายได้ เช่น PBS (Polybutylene Succinate) ซึ่งสามารถสลายตัวได้ในสภาวะที่เหมาะสม รวมถึงการพัฒนามาตรฐานของวัสดุทางเลือกให้มีคุณสมบัติเทียบเท่าพลาสติกทั่วไป เพื่อให้สามารถใช้งานได้ตามฟังก์ชันหรือหน้าที่ของสินค้า และช่วยให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคสามารถจัดการขยะหลังการใช้งานได้อย่างเหมาะสมตามระบบจัดการของแต่ละพื้นที่
“การแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกไม่ใช่ภารกิจของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้บริโภค หรือผู้กำหนดนโยบาย ทุกคนล้วนมีบทบาทสำคัญในการสร้างโลกที่สะอาดและยั่งยืน” วิศรา กล่าวทิ้งท้าย พร้อมเชิญชวนให้ใช้วันสิ่งแวดล้อมโลกในปีนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแม้จะเป็นเพียงก้าวเล็ก ๆ แต่หากทุกคนร่วมมือกัน จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต.