นายเอกลาเวีย บาวี ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ คอร์สเชรา (Coursera) แพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ระดับโลก เปิดเผยว่า ได้จัดทำรายงาน โกบอล สคิล รีพอร์ต 2025 จากข้อมูลเชิงลึกของผู้เรียนกว่า 170 ล้านคนทั่วโลก ในกว่า 100 ประเทศ พบว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 42 ของโลกด้านทักษะโดยรวม และอยู่อันดับที่ 11 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผู้เรียนชาวไทยมีระดับความเชี่ยวชาญอยู่ที่ 54% ในด้านธุรกิจ และ 72% ในด้านเทคโนโลยี และ 57% ในด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล ขณะเดียวกัน ในดัชนีความก้าวหน้าด้าน เอไอ ซึ่งเป็นหมวดใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 48 สะท้อนให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นที่มีศักยภาพในด้านการวิจัย นวัตกรรม และการพัฒนาทุนมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับ เอไอ โดยมีจำนวนผู้เรียนหลักสูตรเกี่ยวกับ Generative AI (GenAI) ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 232% จากปีก่อน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เพิ่มขึ้น 132%

“เทรนด์การเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านเอไอของไทย ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายระดับประเทศ เช่น นโยบายประเทศไทย 4.0 รวมไปถึงคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมคนไทยสู่ตลาดแรงงานในอนาคต และพัฒนาระบบนิเวศด้านเอไอของประเทศไทยอย่างเต็มประสิทธิภาพ ข้อมูลจากรายงาน เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม  2025 ระบุว่า แรงงานไทยกำลังเดินหน้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิทัล โดยองค์กรกว่า 89%  ได้ใช้ เอไอ ในการทำงานแล้ว และอีก 93% คาดการณ์ว่า เอไอ และบิ๊ก ดาต้า  จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นภายในปี 2573  ขณะที่ข้อมูลผู้เรียนจาก คอร์สเชรา เองก็ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญเหล่านี้ โดยจำนวนผู้ลงทะเบียนเรียนใบรับรองวิชาชีพเติบโตขึ้นถึง 43% จากปีที่แล้ว และทักษะที่นายจ้างให้ความสำคัญก็มีอัตราผู้ลงทะเบียนเรียนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดย ทักษะ เอไอ และ แมชชีน เลิร์นนิ่ง เพิ่มขึ้น 210%”

นายเอกลาเวีย กล่าวต่อว่า ประเทศไทยกำลังวางรากฐานให้แรงงานไทยมีความมั่นใจในทักษะด้านดิจิทัล โดย เอไอ ถือเป็นทักษะสำคัญที่นายจ้างมองหา และในด้านผู้เรียนเองก็กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ทักษะ เจนเอไอ ส่งผลให้ประเทศไทยเริ่มพัฒนาทักษะ เอไอ อย่างรวดเร็ว โดยมีคนไทยกว่า 1.1 ล้านคนลงเรียนผ่าน คอร์สเชรา โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 33 ปี อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการศึกษาไทยยังสะท้อนปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะกว่า 65% ของผู้สำเร็จการศึกษาในไทยยังหางานไม่ได้ ชี้ให้เห็นว่าระบบการศึกษายังไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานเท่าที่ควร

การอุดช่องว่างนี้จึงต้องอาศัยการขับเคลื่อนร่วมกัน ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา  ไปจนถึงการเปิดทางให้คนไทยเข้าถึงการเรียนรู้ออนไลน์ได้ง่ายและทั่วถึงยิ่งขึ้น และส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในวงการเทคโนโลยี เพื่อช่วยเสริมให้เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน