ตามนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง รอง ผบ.ตร., พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และ พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จตช./ผอ.ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึง พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้สั่งการให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เร่งสกัดกั้น ตรวจสอบ และระดมจับกุมคนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจผิดกฎหมายในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังให้ดำเนินการตรวจสอบชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยของประชาชน หรือกลุ่มคนร้ายข้ามชาติที่ใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการกระทำความผิด

ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ ผบช.สตม., พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.ภานพ วรธนัชชากุล ผบก.สส.สตม. และคณะทำงาน กองกำกับการ 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (กก.1 บก.สส.สตม.) ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมนายตง (สงวนนามสกุล) อายุ 55 ปี สัญชาติจีน ตามหมายจับศาลอาญาที่ 525/2568 ลงวันที่ 19 พ.ค. 2568 ในข้อหานำไปซึ่งเงินฝากสาธารณะอย่างผิดกฎหมาย (ออกหมายจับผู้ร้ายข้ามแดน) โดยถูกจับกุมได้ที่บ้านพักในพื้นที่หมู่ 14 ต.ลี้ อ.ลี้ จ.ลำพูน และถูกส่งตัวให้พนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ เพื่อส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนต่อไป

สืบเนื่องจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ได้มีหนังสือแจ้งกระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อขอให้จับกุมตัวชั่วคราวนายตง เพื่อส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ไปดำเนินคดีในความผิดฐานนำไปซึ่งเงินฝากสาธารณะอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งสร้างความเสียหายกว่า 339 ล้านหยวน หรือประมาณ 1,542 ล้านบาท และนายตงยังเป็นบุคคลที่องค์การตำรวจสากลได้ออกประกาศสีแดง (INTERPOL RED NOTICE) พนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ

จึงได้ยื่นคำร้องขอศาลอาญาออกหมายจับชั่วคราว และส่งหมายจับมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ดำเนินการสืบสวนจับกุม โดย สตม. ได้สั่งการให้ บก.สส.สตม. เร่งสืบสวนติดตาม จนพบว่านายตงเดินทางเข้ามาในประเทศไทย และเคยมีถิ่นพำนักในจังหวัดฉะเชิงเทรา ก่อนจะหลบหนีไปพักอาศัยที่ อ.ลี้ จ.ลำพูน เจ้าหน้าที่จึงเข้าทำการจับกุมได้ในที่สุด โดยนายตงปฏิเสธที่จะให้การใดๆ และถูกนำตัวส่งพนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ เพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 ต่อไป

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2568 บก.สส.สตม. ได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และตำรวจ บช.ทท. กรณีตรวจพบบุคคลต่างด้าวสัญชาติไต้หวัน 3 คน ลักลอบนำโทรศัพท์มือถือจำนวน 19 เครื่อง เข้ามาในประเทศไทยผ่านเครื่องสแกนสัมภาระของ สนามบินสุวรรณภูมิ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า โทรศัพท์มือถือทั้ง 19 เครื่อง มีความเชื่อมโยงกับบัญชีทางการเงินของผู้ต้องหาที่หลอกลวงให้ผู้เสียหายในประเทศไทยโอนเงิน โดยตรวจพบหมายเลขบัญชีจากโทรศัพท์มือถือตรงกับบัญชีผู้ต้องหาในเคสแจ้งความออนไลน์กับระบบ thaipoliceonline ที่ผู้เสียหายได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้ในหลายพื้นที่ ทั้งในกองบัญชาการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรภาค 6 รูปแบบการหลอกลวงเป็นการหลอกขายของออนไลน์, หลอกเติมเงินออนไลน์ และ หลอกแลกเงินออนไลน์ เมื่อผู้เสียหายโอนเงินให้แล้วก็ไม่ได้รับสินค้าหรือการเติมเงิน มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นกว่าหลักแสนบาท

จากการตรวจสอบในระบบสารสนเทศ ตม. พบว่าชาวไต้หวันทั้งสามราย ไม่เคยเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมาก่อน แต่จากการสืบสวนเพิ่มเติมพบว่าทั้งสามมีประวัติอาชญากรรมในประเทศไต้หวัน ในข้อหาฉ้อโกง, ฟอกเงิน และเล่นการพนัน พล.ต.ต.ภานพ วรธนัชชากุล ผบก.สส.สตม. ได้ดำเนินการเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรของคนต่างด้าวทั้ง 3 ราย เนื่องจากมีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคมฯ จากนั้นจึงได้ควบคุมตัวส่ง กก.3 บก.สส.สตม. ดำเนินการตามกฎหมาย และประสานงานไปยังท้องที่เกิดเหตุเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป โดย บก.สส.สตม. จะได้ขยายผลความเชื่อมโยงทางการเงินไปยังผู้ต้องหารายอื่นเพิ่มเติม เพื่อกวาดล้างขบวนการอาชญากรรมนี้ให้สิ้นซาก