เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่รัฐสภา นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา ในขณะนี้ว่า ตอนนี้ต้องดูการตอบสนองของทางกัมพูชา เพราะตอนแรกเรารับทราบว่าเขาจะไม่เข้าร่วมการเจรจาในกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย–กัมพูชา (JBC) ในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ แต่เขาก็เปลี่ยนใจเข้าร่วม แต่จะไม่พูดหรือหารือ เรื่องข้อพิพาทตรงช่องบก เพราะสภาของเขาได้มีการตัดสินใจยื่นฟ้องศาลโลก จึงต้องรู้ว่าทางการไทยจะมีการเตรียมความพร้อม ในการประชุม JBC จะไปพูดอะไรกับเขา และมีการเตรียมความพร้อมในเรื่อง 30 จุดที่เป็นกรณีข้อพิพาทชายแดนไทยมากน้อยแค่ไหน

เมื่อถามว่า ทางกัมพูชาจะยอมอ่อนข้อให้ไทยหรือไม่หลังการพูดคุย นายกัณวีร์ กล่าวว่า ถ้าดูการจัดการในฝ่ายบริหารและทางสภานิติบัญญัติค่อนข้างจะแรงพอสมควร ซึ่งครั้งนี้น่าแปลกใจ สำหรับตนที่ติดตามงานชายแดนมาโดยตลอด แสดงให้เห็นว่าครั้งนี้กัมพูชาให้ความสำคัญมากๆ เร่งรัดกระบวนการค่อนข้างจะรวดเร็ว แล้วไปถึงศาลโลกโดยทันทีทั้งที่ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับไทย และใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนที่ทำให้สถานการณ์ขึ้นจากระดับ 0 ไปถึง 80, 90 ดังนั้นจึงมองว่าน่าจะมีประเด็นบางอย่างที่เกิดขึ้นภายในรัฐบาลกัมพูชาด้วย รวมไปถึงการเมืองภายใน หรืออาจจะใช้ประเด็นนี้เรียกร้องความนิยม และอย่าลืมว่านายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต คือ ผบ.ทบ.ในสมัยที่มีข้อพิพาทเขาพระวิหาร และเป็นคนนำยิงต่อสู้กับฝั่งไทย ตอนนี้เขาขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว อาจจะใช้ประเด็นนี้ดึงความสนใจการเมืองภายในกัมพูชา ดังนั้นประเทศไทยต้องวางจุดยืนให้ชัดเจนว่าเราจะยอมหรือไม่ ยอมได้แค่ไหน

“หากดูท่าทีของรัฐบาลไทย การตั้งการ์ดน่าจะหลวมตั้งแต่แรก แล้วถ้าเปรียบเทียบกับรัฐบาลฝั่งกัมพูชา ค่อนข้างจะเบากว่าเขาเยอะ แต่ในทางข้อมูลตนมั่นใจว่ากระทรวงกลาโหม สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) น่าจะมีข้อมูลเยอะอยู่แล้ว แต่การแสดงออกของฝ่ายบริหารค่อนข้างที่จะเบาๆ ทั้งที่น่าจะเข้มแข็งมากกว่านี้ รวมทั้งควรจะชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร และหลังจากการพูดคุยจะทำอย่างไรต่อไป ต้องเตรียมพร้อมให้เสร็จ เพราะเสร็จจาก JBC แล้วจะไปคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (GBC) ในวันที่ 16-20 มิ.ย.นี้ ดังนั้นรัฐบาลต้องมีโรดแม็พให้ชัด” นายกัณวีร์ กล่าว

เมื่อถามถึง ความสัมพันธ์ระหว่างตระกูล “ชินวัตร” กับสมเด็จฮุน เซน มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์นี้หรือไม่ นายกัณวีร์ กล่าวยอมรับว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองตระกูลนี้มีส่วนกับสถานการณ์แน่นอน ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะต้องเริ่มจากโครงสร้างระบบความสัมพันธ์ทางด้านการทูตทั้ง 2 ประเทศ แต่ขณะนี้ที่เราเห็นกลายเป็นพีระมิดกลับหัว นำความสัมพันธ์ส่วนตัวของครอบครัวมาเป็นการนำ แม้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บอกชัดเจนว่ามีการพูดคุยกันเป็นประจำ แต่การพูดคุยกันเป็นประจำไม่ใช่การแก้ปัญหา ยิ่งทำให้สถานการณ์คลุมเครือมากยิ่งขึ้น และความสัมพันธ์ส่วนตัวของทั้งสองครอบครัวอาจจะทำให้เราลืมความสัมพันธ์ในบริบทเชิงโครงสร้าง

นายกัณวีร์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้มีหลายคนวิเคราะห์เรื่องของคดีความของนายทักษิณที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ ทำให้ท่าทีของรัฐบาลตอนนี้ดูเหมือนยอมเหลือเกิน ขณะที่ฝั่งกัมพูชาก็รุกเร้าตีกลองรบ แต่ฝั่งเราดูเงียบๆ จึงมีการประเมินกันไปต่างๆ นานา แต่ในมุมมองของตนมองเรื่องของความพร้อมในการพูดคุยของฝั่งไทยมากกว่าที่เรายังมีความพร้อมไม่เต็มร้อย ฝั่งกัมพูชารุกคืบเข้ามาแล้ว ในโซน “โนแมนแลนด์” จุดยืนของไทยจะทำอย่างไรในการที่เขาเข้ามารุกคืบ แล้วจะทำอย่างไรให้ทหารกัมพูชาออกไปจากพื้นที่ดังกล่าว ตนมองในประเด็นนี้มากกว่า

“ในการประเมินสถานการณ์ทางการเมืองก็อาจจะมองว่าเป็นไปได้ที่คุณทักษิณกังวลว่าถ้าเกิดทำอะไรออกไปแล้ว อาจจะทำให้ฝั่งกัมพูชาโดยเฉพาะฮุน เซน ฮุน มาเนต ไม่พอใจ อาจจะทำให้ไม่สามารถเดินทางข้ามไปฝั่งกัมพูชาได้ หากมีอะไรก็ตามเกิดขี้น นี่เป็นการประเมินของนักวิเคราะห์ทางการเมืองไป ถามว่ามีความเป็นไปได้ไหม ก็อาจเป็นความเป็นไปได้ แต่จะร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ผมว่ายังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์” นายกัณวีร์ กล่าว

เมื่อถามย้ำว่า ท่าทีรัฐบาลไม่ได้หมายถึงว่าเรายอมกัมพูชาใช่หรือไม่ นายกัณวีร์ กล่าวว่า ดูจากท่าทีของรัฐบาลแล้ว ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเขายอม นายกรัฐมนตรีก็มาร้องเพลงชาติไทยเรียบร้อยแล้ว เราไม่ได้ยอมทางฝั่งกัมพูชาอย่างแน่นอน แต่มันก็มีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมข้อมูลในการเจรจา.