เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า เขตพระนคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย นายหม่า มิงเกิง ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานเอกอัครราชทูตจีน ดร.เฉวียน จ้าน จุน รองประธานสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติจีน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้บริหารบริษัทเอกชนจีน นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงจตุภาคี “ว่าด้วยโครงการสนับสนุนทางเทคโนโลยีในการหาสาเหตุและแนวทางการจัดการมลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร” ระหว่าง กรุงเทพมหานคร (กทม.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมแห่งประเทศจีน (CRAES) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ บริษัท Lihe Technology (Hunan) จำกัด (Lihero)

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ถือเป็นความร่วมมืออันดีจากทุกภาคส่วนในโครงการสนับสนุนทางเทคโนโลยีในการหาสาเหตุและแนวทางการจัดการมลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร เพราะปัญหาฝุ่นเป็นปัญหาที่ไม่ใช่กระทบแต่เรื่องสุขภาพเท่านั้น แต่กระทบทุกมิติของสังคม การเรียนรู้การจัดการเรื่องฝุ่นจากหลากหลายประเทศ จะทำให้กรุงเทพมหานคร มีแนวทางการแก้ปัญหาได้ดีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิต และเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

สำหรับการลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงจตุภาคี “ว่าด้วยโครงการสนับสนุนทางเทคโนโลยีในการหาสาเหตุและแนวทางการจัดการมลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร” มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การขยายความสามารถทางเทคโนโลยีในการตรวจวัดองค์ประกอบฝุ่นแบบเรียลไทม์ (real time) โดยการติดตั้งเครื่องตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของฝุ่น PM2.5 สำหรับไอออนที่ละลายในน้ำที่ไม่มีอินทรีย์คาร์บอน และธาตุต่าง ๆ รวมทั้งแบล็กคาร์บอน โดยดำเนินการภายใต้หลักการควบคุมมลพิษอย่างแม่นยำและเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อเพิ่มความสามารถด้านการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศ และการบริหารจัดการคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร เพื่อระบุแหล่งกำเนิดของมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กในบรรยากาศ (PM2.5) การประเมินเชิงปริมาณถึงผลกระทบของการเผาเศษวัสดุการเกษตรในที่โล่ง การให้ข้อมูลสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์เพื่อรับมือกับสถานการณ์มลพิษทางอากาศระยะวิกฤติ

อีกทั้ง ยังเป็นการให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม ในการสนับสนุนการดำเนินการควบคุมมลพิษทางอากาศ และการช่วยเหลือกรุงเทพมหานครในการจัดตั้งคณะทำงานและแพลตฟอร์มสำหรับการวิเคราะห์และพยากรณ์มลพิษทางอากาศ ระยะเวลาศึกษาวิจัยของโครงการประมาณ 1 ปี โดยจะทำการติดตั้ง Super Station ที่ระดับความสูง 15-30 เมตร บนอาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน และแบ่งการดำเนินการเป็นสองระยะ

ระยะที่ 1 ช่วงเดือนกรกฎาคม 2568 ทำการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ระยะที่ 2 ช่วงเดือนตุลาคม 2568 จะทำการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดไอออนที่ละลายน้ำได้ และเครื่องตรวจจับและวัดระยะแสง (LiDAR) ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้ คือ กลไกการดำเนินงานระยะยาวในการจัดการคุณภาพอากาศ โดยอ้างอิงจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ระบุและวิเคราะห์มลพิษทางอากาศ การตรวจสอบและการจัดการแหล่งที่มาของการปล่อยมลพิษ มาตรการทางนโยบาย ฐานข้อมูลแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่นในกรุงเทพฯ ความสามารถในการวิเคราะห์สาเหตุของมลพิษทางอากาศแบบเรียลไทม์ แพลตฟอร์มสำหรับการตรวจสอบความเข้มข้นของอนุภาคอย่างเรียลไทม์ ฐานข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยมลพิษจากการเผาไหม้การเกษตรรอบพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้รับผ่านความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ.