ที่ โรงแรมดิเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.68 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นประธานพิธีเปิดโครงการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้ได้รับ ผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ในการจัดสัมมนาโครงการเพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้ได้รับผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จัดโดย คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. สภาผู้แทนราษฎร โดยมีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาคธุรกิจ ภาควิชาการ สื่อมวลชน และผู้ที่สนใจเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก
พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นวันนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายด้านเศรษฐกิจและกระบวนการยุติธรรมของประเทศ โดยเฉพาะช่วงที่เรากำลังเผชิญกับภาวะหนี้ครัวเรือนในระดับวิกฤติ กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวม ข้อมูล ณ สิ้นปี 67 ระบุว่าหนี้ครัวเรือนของไทยมีมูลค่ารวมเกือบ 20 ล้านล้านบาท สูงกว่า GDP ของประเทศในช่วงเวลาเดียวกัน นี่ไม่ใช่เพียงวิกฤติทางเศรษฐกิจ แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะท้อนถึงความเปราะบางของระบบการเงินในระดับครัวเรือน ซึ่งต้องการแนวทางแก้ไขเชิงระบบ ไม่ใช่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาฉบับนี้ จึงไม่ได้เป็นเพียงการแก้ไขกฎหมายเดิม หากแต่เป็นความพยายามสร้าง “ระบบฟื้นฟู” ที่ครอบคลุมรอบด้าน โดยเน้นความยุติธรรม การเข้าถึงได้ง่าย และการให้โอกาสแก่ผู้สุจริตให้กลับมายืนหยัดได้อีกครั้ง

โดยหลักการสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ครอบคลุมในแต่ละหมวด ดังนี้ : หมวด 3/1 – การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่ • ปรับเกณฑ์จำนวนหนี้ขั้นต่ำที่สามารถยื่นคำร้องฟื้นฟูกิจการ จากเดิมไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
หมวด 3/2 – การฟื้นฟูกิจการของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
– ลูกหนี้ที่มีหนี้ระหว่าง 1–50 ล้านบาทสามารถยื่นขอฟื้นฟูได้
– ไม่ต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
– ให้เกิดสภาวะ “พักการชำระหนี้โดยอัตโนมัติ” (Automatic Stay) ทันทีที่ศาลรับคำร้อง
– ยกเลิกข้อกำหนดการประชุมเจ้าหนี้แบบเต็มรูปแบบ และให้ใช้การเจรจาแทน
– มีการเสนอให้เพิ่มกลไก “Cram down” ที่เปิดทางให้ศาลเห็นชอบแผนได้ แม้ไม่ได้รับมติจากเจ้าหนี้ครบตามเกณฑ์ หากมีเหตุผลอันสมควร
– ผู้ค้ำประกันได้รับความคุ้มครอง ให้รับผิดเฉพาะตามแผนฟื้นฟู ไม่ต้องรับผิดเสมือนเป็นลูกหนี้ร่วม
หมวด 3/3 – การฟื้นฟูแบบเร่งรัด (Prepackaged Plans)ของหมวด3/1 และ หมวด 3/2 สำหรับลูกหนี้ที่มีความพร้อม สามารถยื่นคำร้องพร้อมแผนฟื้นฟู และหลักฐานว่าเจ้าหนี้เห็นชอบแผนแล้ว เพื่อให้ศาลพิจารณาเห็นชอบได้โดยรวดเร็ว
หมวด 3/4 – การฟื้นฟูฐานะของลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดา
– ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ หรือประกอบกิจการขนาดเล็ก และมีหนี้ตั้งแต่ 100,000 – 1,000,000 บาท สามารถยื่นขอฟื้นฟูฐานะได้ (ส่วนหนี้สูงกว่าใช้หมวด 3/2 )
– ศาลจะมีคำสั่งให้เกิด Automatic Stay ทันที เพื่อคุ้มครองลูกหนี้ไม่ให้ถูกยึดทรัพย์หรือติดตามทวงหนี้ระหว่างการพิจารณา
– แผนฟื้นฟูต้องกำหนดให้ชำระ “เงินต้นก่อน” แล้วจึงเป็นดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ เพื่อความเป็นธรรม
– หากลูกหนี้สามารถดำเนินการตามแผนได้สำเร็จภายใน 3-5 ปี ก็จะพ้นจากภาระหนี้ และสามารถฟื้นฟูสถานะทางเศรษฐกิจของตนได้อย่างมีศักดิ์ศรี

สำหรับจุดเด่นสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ การเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถเจรจากับเจ้าหนี้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องจัดประชุมเจ้าหนี้แบบเต็มรูปแบบ หากสามารถตกลงกันได้กับเจ้าหนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 สามารถเดินหน้าจัดทำแผนฟื้นฟูได้ทันที ซึ่งช่วยลดขั้นตอน ลดต้นทุน และลดความล่าช้าในกระบวนการได้อย่างมีนัยสำคัญ
”ร่างกฎหมายยังให้ความคุ้มครองแก่ผู้ค้ำประกัน โดยไม่ถือว่าต้องรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วม แต่ให้รับผิดเฉพาะในส่วนที่ระบุไว้ตามแผนฟื้นฟูเท่านั้น อันเป็นการป้องกันผลกระทบที่อาจลุกลามไปสู่ครอบครัวหรือผู้เกี่ยวข้อง โดยไม่เป็นธรรม ที่สำคัญในการชำระหนี้ตามแผนจะกำหนดลำดับชำระหนี้ในแผนโดยให้ชำระต้นเงิน ดอกเบี้ย หรือประโยชน์อื่นใดและเงินเพิ่มตามลำดับ เพื่อให้เงินต้นลดลงและเป็นการลดภาระในการชำระหนี้แก่ลูกหนี้ให้รวดเร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ลูกหนี้ต้องมีความสุจริตในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฐานะ มิเช่นนั้นแล้วหากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูฐานะได้ ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้ทันทีโดยผลของกฎหมาย“ รมว.ยุติธรรม กล่าว