นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยภายหลังเปิดงาน โกบอล ไอเอสโอ คอนเฟอเรนซ์ 2025 ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ควบคู่กับการยกระดับมาตรฐานดิจิทัลให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยหนึ่งในแนวทางสำคัญคือ การพัฒนากลไก ‘บัญชีบริการดิจิทัล’ (ไทยแลนด์ ดิจิทัล แคตาล็อค) ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เพื่อยกระดับมาตรฐานผู้ประกอบการไทย และมีการตรวจสอบคุณสมบัติและรับรองมาตรฐานของสินค้าและบริการดิจิทัล อาทิ ซอฟต์แวร์ ดิจิทัลคอนเทนต์ สมาร์ทดีไวซ์ และ ฮาร์ดแวร์ ให้เป็นไปตามเกณฑ์สากล เช่น ซีเอ็มเอ็มไอ, ไอเอสโอ และดีชัวร์ (dSURE)
ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ที่มอบให้กับผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการใช้งาน ความสามารถในการทำงาน และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งสำคัญนี้ ที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานซอฟต์แวร์และวิศวกรรมระบบจากทั่วโลกมาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ จะช่วยยกระดับมาตรฐานซอฟต์แวร์ของโลกรวมถึงของไทยได้

ด้านนายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า ดีป้า เห็นถึงความสำเร็จอันเป็นรูปธรรมในการสร้างความเชื่อมั่นและโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยผ่านบัญชีบริการดิจิทัล และมาตรฐาน ดีชัวร์ โดยวางแนวทางให้บัญชีบริการดิจิทัลเป็นกลไกที่ทำหน้าที่สร้างโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญของผู้ประกอบการดิจิทัลไทย ขณะที่ ดีชัวร์ จะเป็นตราสัญลักษณ์รับรองคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ดิจิทัลตามมาตรฐานสากล พร้อมกันนี้ยังได้กล่าวถึงกรอบแนวทางการพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับคนไทย (Digital Skill Roadmap) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมกำลังคนดิจิทัลของประเทศ
“ปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยที่ ดีป้า ส่งเสริมให้เกิดการยกระดับมาตรฐานโดยการขอรับรองมาตรฐาน ไอเอสโอ/ไออีซี 29110 แล้วกว่า 520 บริษัท พร้อมผลักดันผลิตภัณฑ์ดิจิทัลให้ได้รับการขึ้นทะเบียนบนบัญชีบริการดิจิทัลแล้วกว่า 700 รายการ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกับ สมอ. และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ดีป้า ได้ออกแบบกรอบแนวทางการพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับคนไทย หรือ ดิจิทัล สคิล โรดแม็พ เพื่ออัพสคิล และ รีสคิล, รวมถึงเพิ่ม นิว สคิล ด้านดิจิทัลให้กับประชาชนคนไทย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างงาน เพิ่มโอกาสทางอาชีพ เพิ่มรายได้ ตลอดจนเติมเต็มความต้องการของตลาดด้วยทักษะดิจิทัลขั้นสูง เพื่อให้บุคลากรดิจิทัลไทยที่พร้อมก้าวสู่เวทีระดับสากลด้วย”

นอกจากนี้ ภายในพิธีเปิดงาน Dr. Sundeep Oberoi, Chairperson of ISO/IEC JTC1/SC7 ได้มอบรางวัล Token of Appreciation แก่ ดีป้า สมอ. และ สภาอุตสาหกรรมฯ พร้อมกล่าวขอบคุณทั้งสามหน่วยงานที่จัดการประชุมครั้งนี้ขึ้น ทั้งนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมบรรยายพิเศษสำหรับนักพัฒนา ผู้ประกอบการ และหน่วยงานไทย เพื่ออัปเดตแนวโน้มการพัฒนามาตรฐานดิจิทัลในหัวข้อสำคัญ อาทิ Standards and Policies, Green Software และ Low Code / No Code Development โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศ
สำหรับงาน Global ISO Conference 2025 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8–13 มิถุนายน 2568 ซึ่งถือเป็นการประชุมประจำปีของคณะอนุกรรมการด้านซอฟต์แวร์และวิศวกรรมระบบ (ISO/IEC JTC1/SC7) ครั้งที่ 44 โดยมีประเทศสมาชิกเข้าร่วม 26 ประเทศ รวมกว่า 190 คน และมีการประชุมใหญ่ (Plenary Meeting) การประชุมกลุ่มทำงานย่อย (Working Groups – WGs) ซึ่งรับผิดชอบการพัฒนามาตรฐานในประเด็นสำคัญ อาทิ การพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI-based software development) วิศวกรรมซอฟต์แวร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green software) การพัฒนาแบบ Low Code (Low code development) เป็นต้น
รวมถึงการประชุมกลุ่มเฉพาะกิจ (Ad Hoc Groups – AHGs) เพื่อศึกษาประเด็นใหม่ ๆ หรือแก้ไขปัญหาเฉพาะกิจ รวมทั้งสิ้นกว่า 60 การประชุม ซึ่งทั้งหมดถือเป็นการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ได้มาซึ่งมาตรฐานที่ตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานซอฟต์แวร์และระบบทั่วโลก โดยคาดการณ์ว่า จากการประชุมในครั้งนี้จะขยายผลให้เกิดการพัฒนามาตรฐานซอฟต์แวร์และระบบฉบับใหม่/ปรับปรุง ไม่น้อยกว่า 40 ฉบับ ครอบคลุมการอนุมัติมาตรฐาน รายงานความคืบหน้าของงาน และการกำหนดทิศทางอนาคตต่อไป