นายเอกชัย สุนทร ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานในพิธีเปิดมินิธัญญารักษ์โรงพยาบาลพระพรหม (Intermediate Care) อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี ภญ.หมอผึ้ง นันทวัน วิเชียร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช นายแพทย์พิศาล ถาวรวงษ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลพระพรหม นายจิรวัฒน์ ปผลอดวงศ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช และตัวแทนส่วนราชการในพื้นที่อำเภอพระพรหม รวมถึงภาคีเครือข่ายอำเภอพระพรหม ร่วมในพิธีเปิด ซึ่งทางโรงพยาบาลพระพรหม ได้เปิดมินิธัญญารักษ์โรงพยาบาลพระพรหม เพื่อให้การดูแลบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดที่บำบัดรูปแบบ ผู้ป่วยนอกไม่สำเร็จ โดยเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการทางจิตหรือมีอาการทางจิตคงที่ ในเขตพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งการให้บริการดังกล่าวจะช่วยลดผลกระทบและอันตรายจากการใช้ยาและสารเสพติด และคืนคนดีสู่สังคมต่อไปอำเภอพระพรหม เป็นอำเภอที่มีการดำเนินงานขับเคลื่อนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ร่วมกันดูแลผู้ป่วยยาเสพติดทั้งร่างกาย จิตใจ สังคมและการดำเนินชีวิต ให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยทั้งต่อตนเอง ครอบครัวและชุมชน 

สำหรับรูปแบบการให้บริการมินิธัญญารักษ์โรงพยาบาลพระพรหม(Intermediate Care ทางโรงพยาบาลพระพรหม ได้เปิดให้บริการมินิธัญญารักษ์ รูปแบบ Intermediate Care จำนวน 6 เตียง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายคือผู้ที่ติดสารเสพติดทุกประเภท โดยมีระยะเวลาในการบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพ 7 – 28 วัน มินิธัญญารักษ์โรงพยาบาลพระพรหม มีโรงพยาบาลมหาราช เป็นโรงพยาบาล แม่ข่าย เนื่องจากโรงพยาบาลมหาราชมีจิตแพทย์และศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชระยะ Acute SubAcute care ก่อนหน้านี้ทางโรงพยาบาลพระพรหม ได้รับดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้แบบผู้ป่วยใน Conner 2 เตียง มีการส่งผู้ป่วยไปรักษาโรงพยาบาลมหาราชและรับผู้ป่วยกลับมารักษาในตึกผู้ป่วยใน อยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคทางกาย 


โดยวัตถุประสงค์การจัดตั้ง มินิธัญญารักษ์โรงพยาบาลพระพรหม สืบเนื่องจาก พระราชบัญญัติประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มุ่งเน้นการช่วยเหลือด้วยกลไกสาธารณสุข แทนการดำเนินคดีทางอาญา โดยถือว่า “ผู้ติดยาเสพติดเป็นผู้ป่วย” ที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา พัฒนาคุณภาพชีวิต และกำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานด้านการบำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแนวนโยบาย ให้โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขยายบริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ติดยาเสพติด โดยการจัดตั้ง “มินิธัญญารักษ์” ในโรงพยาบาลชุมชน เพื่อพัฒนาศักยภาพระบบบริการด้านยาเสพติด ให้สามารถบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ติดยาเสพติด ในมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาล ธัญญารักษ์ เพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดฟื้นฟูอย่างเบ็ดเสร็จ แบบใกล้บ้าน ลดค่าใช้จ่าย ลดความเสี่ยงอันตรายจากยาเสพติดในชุมชน ลดการส่งต่อผู้ป่วยออกนอกจังหวัด เหมาะสมกับบริบทและสภาพปัญหาของพื้นที่.