เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 68 นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ โพสต์ว่า เรื่องร้อนๆ ไทย-กัมพูชา กับข้อสังเกตสิบประการ

1.ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา ล่าสุดนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ โดดๆ โดยลำพัง แต่มันเป็นผลพวงมาจากประวัติศาสตร์ ทั้งในแง่ความรู้สึกทางลบจากศึกสงครามในอดีตและจากยุคอาณานิคม รวมทั้งจากเหตุผลการเมืองภายใน และลัทธิชาตินิยม ซึ่งเราควรต้องทำความเข้าใจที่มาที่ไปของมันด้วย

2.เรื่องการนำชาตินิยมมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ทางการเมืองภายใน เป็นเรื่องที่มักจะพบเห็นได้ทั่วไป ในอดีตไทยก็เคยใช้ กัมพูชาก็ใช้บ่อย ซึ่งความขัดแย้งล่าสุดก็น่าจะมีส่วนมาจากสาเหตุนี้ด้วย

3.ไทยยืนยันมาโดยตลอดว่าการแก้ไขปัญหาเขตแดนระหว่างกันเป็นเรื่องของการเจรจาแบบทวิภาคี โดยมีกลไกที่สำคัญคือ Joint Border Committee (JBC) ไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นหนทางที่รัฐบาลเห็นว่าเหมาะสมที่สุด

4.เราต้องเข้าใจว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลก รวมถึงมหาอำนาจต่างๆ เช่น อเมริกา ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย ไม่ยอมรับอำนาจศาลโลก (ICJ) โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาททางเขตแดน ในอาเซียนเองก็มีแค่กัมพูชากับฟิลิปปินส์ (ซึ่งมีข้อพิพาทกับจีน) เท่านั้นที่รับ

5.สาเหตุที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกเขาไม่รับอำนาจศาลโลก เรื่องข้อพิพาททางเขตแดนมีหลายสาเหตุ ที่สำคัญคือการไปขึ้นศาลโลกย่อมเท่ากับเป็นการเอาอำนาจเหนือเอกราชและอธิปไตยของประเทศตนไปอยู่ในมือของคนอื่นโดยปริยาย รวมทั้งยังมีเหตุผลในทางประวัติศาสตร์ ที่ในอดีตมีการแบ่งดินแดนซึ่งหลายประเทศเห็นว่าไม่ได้รับความยุติธรรมแต่แรก

หลายกรณีเป็นผลพวงมาจากยุคล่าอาณานิคม เช่น แผนที่ซึ่งฝรั่งเศสจัดทำขึ้นในยุคอาณานิคมนั้น ย่อมต้องเอื้อประโยชน์ให้แก่อาณานิคมของเขามากกว่า นอกจากนี้หลายประเทศมองว่าศาลโลกไม่สามารถเข้าใจบริบทความขัดแย้งได้ทั้งหมด รวมถึงเรื่องเชื้อชาติ วัฒนธรรม สภาพภูมิประเทศในพื้นที่จริง ฯลฯ จึงไม่มีความเชื่อมั่นว่าจะได้รับความยุติธรรมจากศาลโลกจริง และท้ายที่สุดคำตัดสินของศาลโลกนั้น ยากที่บอกได้แน่ชัดว่าปราศจากเรื่องของผลประโยชน์และการเมืองระหว่างประเทศมาเกี่ยวข้องโดยสิ้นเชิงหรือไม่

6.โดยที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลก เขาไม่ไปขึ้นศาลโลกในเรื่องข้อพิพาททางเขตแดน การที่ไทยจะไม่ไปศาลโลกจึงไม่ใช่เรื่องแปลก และอยู่บนเหตุผลเดียวกันกับประเทศส่วนใหญ่นั่นเอง

7.ในอดีตไทยเคยรับอำนาจศาลโลก แต่ต่อมาในปี 2503 ไทยประกาศไม่ยอมรับเขตอำนาจของศาลโลก ส่งผลให้ไม่มีประเทศใดสามารถนำไทยขึ้นศาลโลกที่เป็นคดีฟ้องร้องใหม่ได้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากไทย ส่วนการยื่นคำขอของกัมพูชาต่อศาลโลกในปี 2556 ให้ศาลฯ ตีความคดีปราสาทพระวิหาร ไม่ใช่เป็นการฟ้องคดีใหม่ แต่เป็นการตีความคดีเดิม ที่ศาลโลกได้ตัดสินไปแล้วเมื่อปี 2505 (แม้ว่าไทยจะประกาศไม่รับอำนาจศาลโลกในปี 2503 แล้วก็ตาม เพราะเป็นการพิจารณาคดีต่อเนื่องที่ไทยเคยรับอำนาจศาลโลกมาก่อนหน้า) โดยตัดสินว่าไทยรับอำนาจศาลโลกในครั้งนั้น

สรุปว่ากรณีช่องบก ซึ่งเป็นกรณีใหม่ ถ้าไทยไม่สมัครใจขึ้น ก็บังคับให้ไทยไปขึ้นศาลโลกไม่ได้

8.อนึ่ง ไทยมีกลไก JBC กับประเทศลาวเช่นกัน ซึ่งก็ได้มีการเจรจาเรื่องเขตแดนและมีความคืบหน้าไปเป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง ซึ่งฝ่ายลาวก็ใช้แผนที่สมัยฝรั่งเศสทำไว้อ้างอิงเหมือนกัน มันก็ย่อมแสดงว่าการใช้เวทีเจรจาแบบทวิภาคีที่มีผลสำเร็จในเรื่องเขตแดนนั้น มันทำได้ไม่ต้องไปพึ่งศาลโลก บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ดี ไว้เนื้อเชื่อใจกันและกัน

9.เมื่อมีการนำกระแสชาตินิยมเรื่องดินแดนมาใช้ ก็ยากจะหลีกหนีการยั่วยุ ปลุกปั่น การสร้างสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งเมื่อมีขึ้นก็มีปฏิกิริยาตอบโต้ และตัวเล่นต่างๆ ของทั้งสองฝ่ายก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทั้งในไทยและกัมพูชาก็มีฝ่ายที่ไม่ชอบและเกลียดชังรัฐบาลที่พร้อมจะฉกฉวยและกระพือสถานการณ์ความขัดแย้งให้มากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายตน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงต้องใช้ความระมัดระวัง ความสุขุมรอบคอบ ไม่บุ่มบ่าม ไม่ใช้อารมณ์ไปตอบโต้และไม่หวั่นไหวไปตามเสียงยั่วยุต่างๆ โดยจะต้องดำเนินไปตามหลักการ เหตุผลและข้อกฏหมาย ที่เหมาะสมกับระดับสถานการณ์เฉพาะหน้า

10.การไปเต้นตามเสียงยั่วยุ ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายไหน ยิ่งอาจทำให้หลงประเด็นและสถานการณ์ความขัดแย้งขยายตัวออกไป ซึ่งผลเสียย่อมตกอยู่กับประเทศชาติและประชาชน การใช้ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหวถือเป็นกลยุทธ์สำคัญหนึ่งเสมอมาในตำราการเอาชนะฝ่ายตรงข้าม การมีขันติและความอดกลั้นเป็นเรื่องจำเป็นในสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของความอ่อนแอ หรืออ่อนข้อแต่อย่างใดพึงระลึกเสมอว่าสงครามการสู้รบ ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้หมดจริง แต่ย่อมนำมาซึ่งความสูญเสียของทั้งสองฝ่าย และประเทศไม่ใช่บ้านที่จะย้ายหนีไปอยู่ที่อื่นก็ได้ ก็ต้องอยู่ด้วยกันไป ต่อให้รบกันนานแค่ไหน ต้องมีคนตายไปเท่าไหร่ สุดท้ายก็ต้องจบลงที่โต๊ะเจรจาอยู่ดี