สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ว่าองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เผยแพร่รายงานว่า ฟิลิปปินส์ ไทย บรูไน เวียดนาม และมองโกเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมซึ่งสร้างรายได้หลักเข้าประเทศ เลิกจ้างบุคลากรในสายงานด้านการท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันมากกว่า 1.6 ล้านตำแหน่ง เฉพาะเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19


ทั้งนี้ การเลิกจ้างในสายงานการท่องเที่ยวมีสถิติสูงกว่าการเลิกจ้างในภาคอุตสาหกรรมอื่นมากถึง 4 เท่า ขณะที่ปัจจุบัน ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ยังคงให้ความสำคัญ กับการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมจำนวนประชากรมากที่สุด และการเปิดพรมแดนที่ยังคงค่อยเป็นค่อยไป เป็นสัญญาณว่า บรรยากาศในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะยังคงซบเซาไปจนถึงปีหน้า


จากบรรดา 5 ประเทศที่มีการยกตัวอย่างมากนั้น บรูไนเป็นประเทศที่การจ้างงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหดตัวมากที่สุด คือ 40% และชั่วโมงการทำงานลดลงโดยเฉลี่ย 21% ส่วนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งสร้างรายได้คิดเป็น 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในแต่ละปี ก่อนเผชิญกับวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 นั้น อัตราค่าตอบแทนหรือค่าแรงเฉลี่ยลดลง 9.5%


ขณะที่ฐานข้อมูลของสภาเศรษฐกิจโลก “เวิลด์ อีคอนอมิก ฟอรัม” ระบุว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ต้อนรับนักท่องเที่ยว 291 ล้านคน เมื่อปี 2562 สร้างรายได้เข้าสู่ภูมิภาครวมกันประมาณ 875,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 28.6 ล้านล้านบาท) อย่างไรก็ตาม ตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมานี้ สถิตินักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่ภูมิภาคแห่งนี้ ลดลงมาถึง 99% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนเกิดวิกฤติโรคโควิด-19.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES