กลายเป็นกระแสข่าวร้อน ของแวดวงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยในทันที!!

เมื่อสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า ทางเทเลนอร์ กรุ๊ป บริษัทแม่ของดีแทคที่ได้ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ ณ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ว่า  ทาง เทเลนอร์ กรุ๊ป กับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี กรุ๊ป) กำลังเจรจาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ทั้งสองฝ่ายจะควบรวมกิจการโทรคมนาคมของทั้งสองฝ่ายในไทยเข้าด้วยกัน แม้การเจรจายังไม่ได้ข้อสรุปออกมาในรูปแบบไหน และจะดีลกันจบเมื่อไร?

แต่ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันเรื่องข่าวลือที่เกิดขึ้นตลอดมาว่า ทั้งสองฝ่ายมีการพูดคุยเจรจาในเรื่องนี้ สอดรับกับสถานการณ์ในประเทศไทยเมื่อ ทั้ง ทรูและ ดีแทค ได้ส่งหนังสือชี้แจงกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยไม่ได้ออกมาปฎิเสธในเรื่องนี้ เพียงแต่หากมีข้อชี้แจงใดๆ ที่บริษัทฯ มีหน้าที่แจ้งต่อ ตลท.ทั้งสอง บริษัทฯ ก็จะแจ้งข้อมูลต่อ ตลท. ตามข้อบังคับต่อไป

ควบรวมได้สำเร็จขึ้นเบอร์ 1 ลูกค้ารวม

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดที่ชัดเจนว่าจะเป็น การซื้อ หรือ ควบรวมในลักษณะรูปแบบไหน แต่ทั้งนี้ถ้าหากดีลนี้สำเร็จและเป็นจริง จะทำให้ฐานลูกค้ารวมทั้งสองบริษัทขึ้นเป็นเบอร์ 1  ในตลาดโทรคมนาคมของไทยทันที ที่จำนวน 51 ล้านราย แบ่งเป็นลูกค้าของทรูจำนวน 32 ล้านราย ลูกค้าดีแทคจำนวน 19.3 ล้านราย แซงหน้าเอไอเอสผู้นำอันดับ 1 ในตลาดปัจจุบันที่มีฐานลูกค้าอยู่จำนวน  43.7 ล้านราย ขณะที่ผู้เล่นในตลาดอีกราย คือ เอ็นที มีฐานลูกค้าในระดับหลักล้านรายท่านั้น  

สำหรับในเรื่องผลประกอบการ จากข้อมูลของ ตลท. เมื่อสิ้นไตรมาส 3  หรือ 9  เดือนแรกของปีนี้ ทรู มีรายได้ 96,678 ล้านบาท ดีแทค มีรายได้ 59,732  ล้านบาท ขณะที่ เอไอเอส มีรายได้ 130,955  ล้านบาท

สืบศักดิ์ สืบภักดี

เทรนด์อุตฯโทรคมนาคมโลก “อ่อนแอก็แพ้ไป

ทั้งนี้ในมุมมองนักวิชาการอย่าง “สืบศักดิ์ สืบภักดี” นักวิจัยโทรคมนาคม สำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิเคราะห์ว่า  ในช่วงที่ผ่านมา เทนด์การประกอบธุรกิจในวงการอุตฯโทรคมนาคมของโลก มีการเปลี่ยนแปลง การทำธุรกิจจะไม่ง่ายเหมือนเดิม ซึ่งได้มีการคาดการณ์กันว่าในหลายๆประเทศ จะเหลือผู้เล่นหลักๆในตลาดเพียง 3 รายเท่านั้น เรียกว่า “เมจิก ทรี” ที่จะแข็งแกร่งและอยู่รอด โดยบริษัทผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มไม่เข้มแข็งจะมีการควบรวมมากขึ้น ซึ่งมีให้เห็นแล้วหลายประเทศ อย่างเช่น ในสิงคโปร์  ฮ่องกง  ญึ่ปุ่น ฯลฯ  ที่เกิดการหลอมรวม หรือ ผู้ลงทุนจากต่างประเทศถอนตัวออกไป ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเแข็งแกร่งในการทำธุรกิจมากขึ้น

ผู้ประกอบการไทยหนีไม่พ้นตามเทรนด์โลก

สำหรับในประเทศไทย ผู้ประกอบการไทยก็คงหนีไม่พ้น ด้วยปัจจัยปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไป การลงทุนมีต้นทุนสูงขึ้น โดยเเฉพาะ เทคโนโลยี 5จี ที่ต้องมีค่าการประมูลคลื่น ก็หลายหมื่นล้าน รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ในการขยายโครงข่าย ไม่นับรวมงบประมาณการทำตลาด ฯลฯ แม้ธุรกิจจะยังมีอัตราเติบโต แต่ผลตอบแทนไม่ได้สดใสเหมือนในอดีต

“ในอดีตประเทศไทยมีผู้ให้บริการ 5 ราย คือ เอไอเอส ทรู  ดีแทค  แคท และ ทีโอที แต่ช่วงที่ผ่าน ก็มีการควบรวมของ แคท กับทีโอที กลายเป็น เอ็นที  หรือ อย่าง เอไอเอส ที่มีการซื้อขายเปลี่ยนผู้ถือหุ้น จากเทมาเส็ก มาเป็นกัลฟ์ฯ  เป็นต้น จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ในกรณีเรื่องข่าวทรู จะซื้อกิจการหรือควบรวมกับดีแทค ถือเป็นการปรับทัพเพื่อให้แข็งขันได้ ซึ่งถ้าหากดีลนี้สำเร็จ ไทยก็จะเป็น เมจิก ทรี เหมือน หลายๆประเทศเช่นกัน ทำให้เห็นว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ยังมีอนาคตอยู่”

ภาพ : ดีแทค

ถ้า”บิ๊กดีล”เกิดขึ้นจริงต้องใช้เวลาอีกเป็นปีถึงเห็นผล

นักวิชาการด้านโทรคมนาคม จากสำนักวิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ยังมองว่า  โดยส่วนตัวเชื่อว่า ถ้าหากดีลนี้สำเร็จและเกิดขึ้นจริงๆ ก็อาจจะต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ ไม่น้อยกว่า 6 เดือน-1 ปี หากทั้งสองบริษัทบรรลุข้อตกลงกันจริงๆ เพราะต้องมีขั้นตอนอื่นๆตามว่า ไม่ว่าจะเป็น แจ้งตลาดหลักทรัพย์วางแผนตลาด หรือออกบริการใหม่ๆออกมา ฯลฯ

“ทั้งหมดคงต้องรอให้ทางทั้งสองบริษัทเป็นผู้ให้รายละเอียดอย่างชัดเจนก่อน เพราะตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะมีการควบรวมแบบไหน อาจจะมีการคงแบรนด์ไว้ หรือ ถือหุ้นไขว้ ไม่ได้รวมแบรนด์  หรือการเป็นพาร์ทเนอร์ ที่ลูกค้าดีแทคอาจจะไขว้มาใช้ 5 จีของทรูได้ ซึ่งลูกค้าก็ได้ประโยชน์  หรือลูกค้าของทรู และดีแทค   ก็สามารถเลือกใช้แพ็กเกจที่เหมาะสมกับตัวเองจากทั้งสองแบรนด์ได้ หรืออีกทาง อาจจะควบรวมแล้วเหลือเพียงแบรนด์เดียวก็มีความเป็นไปได้หมด”

สำหรับในประเด็นเรื่องที่ต้องแจ้งทาง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ในกรณีหากหุ้นมีการเปลี่ยนมือนั้น ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกํากับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม  เชื่อว่าถ้าหากดีลนี้เจรจาสำเร็จเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายแล้ว หรือจนถึงปลายทางจริงๆแล้ว ทั้งสองบริษัทจะมีการแจ้งต่อ กสทช.เพื่อทำตามกฎหมายอย่างแน่นนอน แต่ขณะนี้ยังไม่มีอะไรที่เป็นทางการ เพียงแต่มีหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น

และตามข่าวก็ยังไม่มีใครรู้ว่าจะมีการควบรวมแบบใดวีธีไหน เพียงแต่เทเลนอร์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ออกมายอมรับการเจาจราในต่างประเทศ เมื่อเกิดกระแสข่าวมาแล้วทั้ง ทรู และ ดีแทค ก็ต้องรีบแจ้งรายละเอียดต่อ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามที่ปรากฏตามข่าว เพื่อไม่ให้มีผลต่อกระทบราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และกระทบต่อผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท

ภาพ : ดีแทค

ผู้บริโภคเสียประโยชน์เอกชนแข่งขันน้อยลง?

สำหรับเมื่อมีผู้เล่นในตลาดน้อยลงแล้วหลายฝ่ายมองว่าผลเสียจะตกแก่ผู้บริโภคนั้น ในเรื่องนี้ “สืบศักดิ์ สืบภักดี” บอกว่า มองได้สองมุม แต่ยังเร็วเกิดไปที่จะบอกว่าเสียประโยชน์ จากการแข่งขันที่น้อยลง ในทางกลับกัน ส่วนตัวมองว่า หากเหลือผู้บริการ 3 ราย ก็ยังถือว่ามีการแข่งขันอยู่ ไม่ถึงกับเป็นการผูกขาด  หรือเหลือผู้ให้บริการเพียง 1-2  ราย  

“มองว่าเป็นการเสริมแกร่งให้ทั้งสองบริษัท โดยดีแทคไม่มี ฟิกซ์ เน็ตเวิร์ค ไม่มีไฟเบอร์ ออฟติก หรืออินเทอร์เน็ตบ้าน หรือในการประมูลคลื่นความถี่ ดีแทคก็ไม่ได้มีคลื่นความถี่เหมือนอีกสองค่าย และ 5 จี อาจจะยังไม่ครอบคุมทั้งหมด ซึ่งถ้าหากมีการควบรวมกัน มองว่า จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้ลูกค้าของทรูและดีแทค อาจจะเกิดการรวมบริการหรือใช้กลยุทธ์ตลาดร่วมกัน มีแพคเก็จมาให้เลือกมากขึ้นก็ได้”

ซึ่งในแง่ผู้ประกอบการ เชื่อว่าจะต้องมีทางเลือกให้ลูกค้ามากขึ้น อย่างเพิ่งไปคิดว่าน้อยรายแล้วจะมีทางเลือกลดลง เชื่อว่าจะมีการซอยแพ็กเกจต่างๆ ขณะเดียวกันทางเอไอเอส ก็อาจจะมีการขยับนำเสนอบริการหรือแพ็กเกจใหม่ๆมีแผนการตลาดไว้รองรับ เพื่อให้แข่งขันได้มากขึ้นด้วย

รัฐเสียหาย ? การแข่งขันประมูลคลื่นความถี่น้อยลง

สำหรับในประเด็นเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ในอนาคตที่ทาง กสทช.จะจัดขึ้น หากการแข่งขันลดน้อยลง ทำให้เงินประมูลที่รัฐได้ลดลงนั้น ในเรื่องนี้ ทาง“สืบศักดิ์ สืบภักดี”  บอกว่า ต้องกลับไปที่เรื่อง เมจิก ทรี ในหลายๆ ประเทศ อย่างที่ สิงคโปร์ ก็มีผู้เล่นหลัก 3  ราย คือ สิงเทล เอ็มวัน และสตาร์ฮับ ส่วนในไทยก็ไม่ถึงกับเหลือรายเดียว หรือ สองราย ที่จะทำให้เกิดการฮั้วกันได้ แต่ยังมีเอ็นที ที่สามารถเป็นตัวบาลานซ์เกมที่ดี ทั้งในแง่การประมูลคลื่นความถี่ หรือการทำแพ็กเกจ เช่น ถ้าฝั่งเอกชน มีราคาสูงไป ก็สามารถใช้กลไกของภาครัฐผ่านเอ็นทีได้ ซึ่งปัจจุบันก็มีแพ็กเกจมือถือและเน็ตบ้านของเอ็นทีที่ราคาถูกอยู่แล้วเพื่อให้บริการประชาชน

“สำหรับในเรื่องการประมูลคลื่นความถึ่ในอดีตที่ผ่านมามีผู้ให้บริการเข้าประมูล 5  ราย แต่จะมีผู้มีศักยภาพประมูลเพียง 3 รายเท่านั้น และในความเป็นจริงเรื่องคลื่นความถี่ที่ กสทช. จะนำมาประมูลในอนาคต เช่น คลื่น 3500 MHz เพื่อทำ 5จี ในความเป็นจริงคลื่นนี้เพียงพอกับผู้ประกอบการ 3 ราย ซึ่งอาจไม่ถึงกับแย่งกันประมูล หรือ มีรายใดรายหนึ่งไม่ได้ แล้วประชาชนจะเสียผลประโยชน์” 

ภาพ : ทรู

ประมูลคลื่นราคาสูงไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป?

ในเรื่องราคาจริงอยู่หากมีคนอยากได้หลายรายก็จะเกิดการแข่งขัน แต่ในอดีตเราได้บทเรียนกันมาแล้วในการประมูล 3-4 ครั้งที่ผ่านมา มีครั้งหนึ่งที่คลื่นความถี่ที่ถูกประมูลไปมีราคาสูงที่สุดในโลก เป็นข้อมูลจาก “จีเอสเอ็ม” และกรณีคลื่นความถี่ไม่ได้ถูกประมูลไปเพื่อนำไปใช้ เช่น  ย่านความถี่  1800 MHz หรือ 26 GHz  จนผลสุดท้ายต้องเก็บไว้ เพราะประมูลออกไปไม่หมด

 ซึ่งในมุมนักวิชาการ มองว่า การที่ราคาสูงเกินไปจนเอกชนไม่สามารถประมูลได้ ทำให้ไม่เกิดประโยชน์ใดๆกับทุกฝ่าย ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน เรื่องการได้ราคาประมูลสูงสุดอาจไม่ใช่คำตอบแล้วในอนาคต แต่การ ไปรีฟาร์มมิ่งคลื่นความถี่มา เช่น จากทีวี  แต่ผลสุดท้ายนำไปสร้างบริการทางเทคโนโลยีให้กับประชาชนไม่ได้ ก็ถือเป็นการเสียโอกาสเปล่าๆ  

“เชื่อว่าการประมูลคลื่นความถี่ต่อจากนี้ราคาไม่ใช่ตัวตั้งอีกแล้ว อาจเป็นเรื่องความพร้อมของเอกชนและเทคโนโลยีแทน ก็คาดหวังว่า กสทช.ชุดใหม่จะมองประเด็นนี้ด้วย ต้องผลักดันให้คลื่นความถี่ที่มีอยู่ได้นำออกมาใช้เป็นประโยชน์ดีกว่า ทำราคาประมูลคลื่นความถี่ให้สูง เพราะสุดท้ายแล้วก็จะสะท้อนมาที่ค่าบริการของประชาชนที่ต้องจ่ายแพง”

ทั้งหมดคือมุมมองทิศทางอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย เมื่อเกิดแรงกระเพื่อมจากกระแสข่าวการควบรวมกิจการจากผู้เล่นเบอร์ 2 และ 3 ในตลาดของไทย แต่สุดท้ายแล้วยังคงไม่มีอะไรที่แน่นอน คงต้องติดตามความคืบหน้าจากทั้ง “ทรู” และ “ดีแทค” ว่าดีลนี้จะสำเร็จเมื่อไรและจะเป็นไปในรูปแบบลักษนะไหน ??

ที่จะทำให้กลายเป็นบริษัทโทรคมนาคมอันดับ1 ของไทยในอนาคต

 จิราวัฒน์ จารุพันธ์