“ตลาดสด”เป็นสถานที่ “ทำมาหากิน” คู่กับสังคมไทยมาช้านาน แม้ว่าในยุคปัจจุบันจะมี “ซุปเปอร์มาเก็ต”ใน ห้างสรรพสินค้ามาเป็นคู่แข่ง หรือ ทางเลือก ให้กับ “พ่อบ้าน แม่บ้าน” ยุคใหม่

แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่ยังชอบที่จะไป “ตลาดสด” หาซื้อหาของกิน วัตถุดิบ ของสดต่างๆ มา “ทำอาหารกิน”ในครอบครัว

เพราะตลาดสดที่อยู่ตามชุมชนต่างๆ เป็นสถานที่ ที่ยังมี “มนต์เสน่ห์” แห่งการ “ดำรงวีถีชีวิต” ของพ่อค้าแม่ค้า ในกลุ่มรากหญ้า

อย่างไรก็ตามเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การค้าการขายในแบบเดิมๆ อยากจะเป็นการ “ปิดโอกาส” ในการทำมาหากินของตัวเอง เมื่อเทคโนโนโลยี ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตของทุกคนมากยิ่งขึ้น เพราะหาก พ่อค้า แม่ค้า ในตลาดสด และหาบเร่แผงลอย รู้จักนำเทคโนโลยีมาประยุกต์กับ การค้าขายของตนเอง ก็มีโอกาสที่จะสามารถยกระดับ ธุรกิจของตนเองได้

ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐิจและสังคม(ดีอีเอส) โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล  หรือ ดีป้า จึงได้จัด “โครงการ Transform ตลาดสดยุควิถีใหม่ เพื่อส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลสู่ผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี  และผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า พ่อค้า หาบเร่ แผงลอย และตลาดสด ที่ถือเป็นเศรษฐกิจฐานราก ของประเทศ เพื่อให้สอดรับกับยุควิถีชีวิตใหม่ (New Normal)

 ด้วยมีภารกิจที่ต้องการ“เปลี่ยนทุกการซื้อขายสู่ (โลก) ออนไลน์ ปรับทุกไลฟ์สไตล์สู่สังคมไร้เงินสด”

“ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รมว.กระทรวงดีอีเอส บอกว่า  ปัจจุบันคนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น มีการซื้อสินค้าออนไลน์จำนวนมากผ่านช่องทางต่างๆ การค้าขายในตลาดสด รวมถึงพ่อค้า แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ก็ต้องยกระดับ หากขายค้าขายแบบเดิม อาจจะทำให้เสียโอกาส แต่หากสามารถประยุกต์นำเทคโนโลยีมาใช้ได้ ทั้งเรื่องการชำระเงินสู่สังคมไร้เงินสด การเพิ่มช่องทางขายออนไลน์  จะสามารถยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตได้ โดยกระทรวงดีอีเอส เตรียมจะขยายโครงการนี้ ให้ได้ทั่วประเทศในอนาคต เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานราก ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

 โครงการนี้ ได้ดำเนินการนำร่องไปแล้วตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ครอบคลุม 10  จังหวัดประกอบด้วย  กรุงเทพ นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี  มีผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้าเข้าร่วมโครงการแล้ว 3 หมื่นราย  จำนวน 133 ตลาด สามารถสร้างราย ได้เพิ่มขึ้นกว่า 300 ล้านบาท

สำหรับแผนในการดำเนินการต่อจากนี้นั้น ทาง “ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า บอกว่า สำหรับในปีหน้ามีแผนจะขยายพื้นที่เพิ่มเป็น 20 จังหวัด ครอบลุมผู้ประกอบการ 65,000  ราย รวมถึงตลาดสดเพิ่มอีก 70 แห่ง คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้พ่อค้าแม่ค้าเป็นเงินประมาณ 1,200  ล้านบาท ซึ่งดีป้า จะมีการนำโครงการไปโรดโชว์ ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ สำหรับพ่อค้าแม่ค้า ที่เข้าร่วมโครงการนี้จะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ  ส่วนการใช้เทคโนโลยีจากสตาร์ทอัพ ในช่วงแรกจะเป็นการใช้ฟรี และแบบมีระยะเวลาเฉลี่ย 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับสตาร์ทอัพแต่ละราย

  ทั้งนี้สำหรับเทคโนโลยีของ   Digital Startup และ Digital Provider จำนวน 28 ราย ที่ได้นำมาให้บริการ ครอบคลุมใน 6 ระบบ คือ

1.อีเพย์เม้นท์(E-Payment) ระบบรับชำระเงินออนไลน์ รองรับทุกรูปแบบธุรกรรมทางการเงิน ช่วยยกระดับธุรกิจ สามารถเช็คยอดง่าย ไม่ต้องจำข้อมูล ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้ซื้อและผู้ขาย สามารถใช้จ่ายผ่าน QR Code จ่ายแบบผ่อนชำระ ใช้บัตรเครดิตเพื่อสะสมแต้ม ฯลฯ

2.แชทบอท(Chatbot) ระบบจำลองการสนทนา ช่วยโต้ตอบกับลูกค้า เสมือนมีแอดมินทำงานตลอด 24 ชั่วโมง สามารถทำงานร่วมกับร้านค้าออนไลน์ได้สะดวก ลดงานตอบคำถามซ้ำ ๆ ปิดการขาย ดูแลลูกค้า รวบรวมออเดอร์ เพิ่มยอดขาย และรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี

3.เดลิเวอรี่(Delivery) ระบบการสั่งอาหารหรือสินค้า สร้างความสะดวกสบายในการสั่งซื้อ และจำหน่าย โดยไม่ต้องมีหน้าร้าน สามารถเลือกเมนูและส่งคำสั่งซื้อไปยังร้านค้าได้ทันที สามารถชำระเงินผ่านระบบ พร้อมการจัดส่งสินค้าจากร้านค้าถึงมือลูกค้าที่หน้าบ้านได้อย่างง่ายดายประกอบด้วย

4.โลจิสติกส์(Logistics) ระบบการขนส่งออนไลน์ ช่วยจัดการรับ-ส่งสินค้าถึงหน้าบ้าน พิมพ์ใบปะ หน้าจากระบบได้ ไม่ต้องเสียเวลาเขียนให้ยุ่งยาก ติดตามสถานะจัดส่งได้ และสามารถเปรียบเทียบราค าเพื่อควบคุมต้นทุนหรือรายจ่ายได้สะดวกมาก

5.พ้อยท์ ออฟ เซลล์(Point Of Sales :POS) ระบบบริหารจัดการจุดขาย สำหรับร้านค้าปลีกหรือร้านอาหาร ตัวช่วยเพื่อบริการที่รวดเร็ว ป้อนรายการขายได้แม่นยำ เช็คข้อมูลได้รวดเร็วทันสมัย แสดงยอดขาย และสต็อก ได้แบบเรียลไทม์ นำไปใช้บริหารการขายและจัดการสินค้าได้ดีขึ้น และยังสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ ได้ เช่น เครื่องพิมพ์ใบเสร็จ ลิ้นชักเก็บเงิน เครื่องอ่านบาร์โค้ด เป็นต้น

และ 6.เซอร์วิส (Service) บริการต่าง ๆ เพื่อธุรกิจในยุคดิจิทัล ได้แก่ ร้านค้าออนไลน์ ที่มีเครื่องมือในการจัดการร้านค้าและการขายสินค้าอย่างครบวงจร เครื่องมือการตลาด อาทิ พื้นที่แนะนำร้านค้าหรือบริการ รวมถึงเครื่องมือการจัดการต่างๆ เช่น การจัดการด้านการเงินหรือการบริหารกระแสเงินสด เป็นต้น

ทั้งนี้ในช่วงเดือน ก.ย.64-ม.ค.65 จะมีการลงพื้นที่ส่งเสิมการใช้งานแอพพิลเคชั่นและเทคโนโลยีต่างๆ ใน 133 ตลาดใน 10 จังหวัด อย่างต่อเนื่อง  โดยมีตลาดต้นแบบ อาทิ ตลาดยิ่งเจริญ จ.กทม. ตลาดริมน้ำจังหวัดนครสวรรค์ ตลาดสดเทศบาลเมืองชัยนาท ตลาดสดเทศบาลเมืองสิงห์บุรี  ตลาดกล้วยกล้วย  จ.ลพบุรี   ตลาดดอนหวาย จ.นครปฐม ฯลฯ

นอกจากนี้ก็จะมีการจัดอบรมหลักสูตรออนไลน์  ควบคู่กันไป จำนวน 5 หลักสูตร ประกอบด้วย 1.เริ่มต้นขายออนไลน์ด้วย LINE MY SHOP และ LINE OA  2.สร้างคอนเทนต์ให้เป็นยอดขายบน TikTok 3.ธุรกิจโตไวด้วยคอนเทนต์และโฆษณาออนไลน์บน Facebook 4.สร้างธุรกิจให้เติบโตในสังคมยุคไร้เงินสด และ 5.สร้างกราฟฟิคสวย โปรโมทสินค้าด้วย Canva

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมต่อผู้คนมากขึ้น เราคงปฎิเสธเทคโนโลยีไม่ได้ หากพ่อค้า แม่ค้า สามารถนำมาใช้ในการทำมาค้าขาย นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายแล้ว ยังช่วยอำนวยความสะดวกทำให้การทำมาหาเงิน สอดรับชีวิตในยุควีถีใหม่.

 จิราวัฒน์ จารุพันธ์