นายบัญชา  สุขแก้ว  รองอธิบดีกรมประมง  เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กรมประมงในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในดูแล อนุรักษ์ ฟื้นฟู บริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีใช้อย่างยั่งยืนด้วยมาตรการต่างๆ มากมาย โดยหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือ กลุ่มนักเรียน เยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนที่เป็นพลังสำคัญในการกำหนดทิศทางในการดูแลทรัพยากรของชาติต่อไปในอนาคต ดังนั้น การปลูกจิตสำนึกความเป็นเจ้าของหวงแหนทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเอง จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้การบริหารจัดการทรัพยากรเกิดความยั่งยืนในอนาคตได้อย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ กรมประมง จึงได้จัด “โครงการยุวประมง” ประจำปีงบประมาณ 2565 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในท้องถิ่น เพราะหากกลุ่มเด็กเยาวชนรับรู้และเข้าใจแล้ว จะสามารถเป็นสื่อกลางในการนำความรู้ที่ได้ศึกษาไปบอกกล่าวกับผู้ปกครองที่ประกอบอาชีพประมง และยังสามารถช่วยประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องชาวประมงในท้องถิ่นของตนเองได้อีกด้วย

สำหรับ “โครงการยุวประมง” ประจำปีงบประมาณ 2565 กรมประมงจะดำเนินการจัดอบรมความรู้ทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้กับนักเรียนนักศึกษาจากทั่วประเทศ จำนวน 13 รุ่น แบ่งเป็น รุ่นละ 20 คน รวมทั้งสิ้น 260 คน โดยผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นนักเรียนนักศึกษา ระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 4 – 6  มัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 และ 4 – 6 หรือ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ที่มาจากโรงเรียน วิทยาลัย ศูนย์การศึกษานอกระบบที่อยู่ในเขตพื้นที่ชุมชนประมงน้ำจืดและชุมชนประมงเขตทะเลชายฝั่ง ภายใต้โครงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนประมงในการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น โดยหลักสูตรการอบรมฯ จะได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเกี่ยวกับกฎหมายประมงเบื้องต้น  การอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ  สัตว์น้ำที่ได้รับการสงวนและคุ้มครองตาม พ.ร.บ. พ.ศ.2562  เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย  ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง  ระบบนิเวศแหล่งน้ำจืด และการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องถิ่นของชุมชนประมงต้นแบบ ฯลฯ

ซึ่งกรมประมงเชื่อมั่นว่านักเรียนนักศึกษาผู้ผ่านการฝึกอบรมจะมีความรู้เพิ่มขึ้นในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างถูกต้องเหมาะสม สามารถเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องชาวประมงในท้องถิ่นของตนเองรวมถึงประชาชนทั่วไปได้ทราบถึงแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ และการทำการประมงอย่างถูกวิธี ลดปัญหาและป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย ที่สร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดการดูแลทรัพยากรประมงพื้นถิ่นมากขึ้น เกิดเป็นเครือข่ายด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรประมง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนิน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมประมงมีการจัดโครงการยุวประมงมาแล้วกว่า 196 รุ่น มีเยาวชนที่ผ่านการอบรมไปแล้วกว่า 11,257 คน ซึ่งเครือข่ายเยาวชนเหล่านี้ หลายคนมีความเข้มแข็งในการเป็นกระบอกเสียงในการดูแลทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นถิ่นของตนเอง บางคนเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยวให้ความรู้เรื่องการดูแลคุ้มครองทรัพยากรสัตว์น้ำ  บางคนมีแรงจูงใจหันมาสนใจเรียนประมง จนสอบบรรจุเข้ารับราชการกรมประมง และความสำเร็จเหล่านี้ คือ อีกหนึ่งบทบาทของกรมประมงที่น่าภาคภูมิใจ