นายสุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม เปิดเผยในงานสัมมนาเพื่อการขับเคลื่อนมาตรการลดภารบริโภคเกลือโซเดียมในประชากรไทยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายการรักษาสุขภาพของประชาชนที่มาจากการบริโภคความเค็มมากถึง 100,000 ล้านบาท และมีจำนวนประชากรที่มีโรค 5 โรคเรื้อรังที่เกิดขึ้นจากความเค็ม คือ ความดันโลหิตสูง 13 ล้านคน โรคไต 8 ล้านคน โรคหัวใจ 500,000 คน โรคผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง 500,000 คน เบาหวาน 4 ล้านคน ถือเป็นภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณที่สูงมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี 10-15%   

ดังนั้น จึงอยากให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีความเค็ม เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดบริโภคความเค็มได้ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปัจจุบันแต่ละซองมีปริมาณความเค็มผสม 700-3,000 มิลลิกรัมต่อซอง หากเกิน 1,000 มิลลิกรัมก็ถือว่าอันตราต่อสุขภาพแล้ว จึงอยากเสนอให้ปรับขึ้นบะหมี่ที่มีความเค็มเกิน 1,800 มิลลิกรัม ซึ่งมีปริมาณ 15% ของทั้งตลาด เช่นหากขึ้นภาษี 50 สตางค์ ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นจาก 6 บาท เป็น 7 บาท รวมถึงอาจพิจารณาเก็บภาษีขนมขบเคี้ยว   

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมได้ศึกษา มาตรการเก็บภาษีความเค็มไว้แล้ว แต่ได้ชะลอออกไปเนื่องจากโควิดเข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมค่อนข้างเยอะ โดยรูปแบบการเก็บภาษีความเค็ม จะเป็นแบบขั้นบันไดเหมือนกับภาษีความหวาน เพื่อให้เวลาผู้ประกอบการได้มีการปรับตัว หากเค็มมากก็เสียภาษีมาก เค็มน้อยก็เสียภาษีน้อย หากต่ำกว่าเกณฑ์ก็จะไม่เสียภาษีเลย โดยมีสินค้าในเป้าหมายมีอยู่ 4 กลุ่ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง เย็น ขนมขบเคี้ยว และซอสปรุงรส แต่จะไม่เก็บภาษีเกลือ และผงชูรส  

อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีความเค็มจะต้องดูความพร้อมในแง่มาตรการภาษีกับอุตสาหกรรม โดยจะต้องรอให้เศรษฐกิจดีขึ้นด้วย คาดว่าจะบังคับใช้ได้เมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวจากโควิด และต้องให้เวลาอุตสาหกรรมในการปรับตัว 6-12 เดือน เนื่องจากภาษีความเค็มจะกระทบประชาชนในวงกว้าง ฉะนั้นจะต้องรอช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม เมื่อเศรษฐกิจดีแล้ว และการใช้ภาษีความเค็มจะต้องค่อยเป็นค่อยไป  

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างศึกษาการจัดเก็บภาษีความเค็ม เพื่อให้คนไทยลดการบริโภคเกลือลงอย่างเป็นรูปธรรม โดยมาตรการทางภาษี ไม่ได้เป็นมาตรการหลัก และไม่ได้มุ่งหวังการจัดเก็บรายได้เพิ่ม แต่เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน และสร้างความตระหนักรู้และสร้างความเข้าใจ เพื่อให้ประชาชนลดการบริโภคเกลือด้วยตัวเอง ซึ่งปัจจุบันคนไทยบริโภคความเค็ม 3,600 มิลลิกรัมต่อวัน ตั้งเป้าลดเหลือ 2,800 มิลลิกรัม ภายใน 8-10 ปี  

“ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะจัดเก็บภาษีความเค็มเป็นอัตราเท่าใด ใช้ระดับความเค็มเท่าใดเป็นเกณฑ์ เนื่องจากกรมสรรพสามิต อยู่ระหว่างหารือกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาคอุตสาหกรรมอาหาร การรณรงค์และสร้างความเข้าใจกับร้านอาหาร ภัตตาคาร และการปรับพฤติกรรมคนในครอบครัวที่ต้องลดการบริโภคความเค็ม สำหรับอัตราภาษีความเค็มนั้น หากมีการจัดเก็บ คาดว่าจะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป แบบเดียวกับภาษีความหวาน”