กลุ่มชุมชนชาวยิวในประเทศอิสราเอล มักปลูกฝังค่านิยมว่า “เราเกิดมาต้องทำให้โลกดีขึ้น” เนื่องด้วย องค์การสหประชาชาติได้มีมติรับรองให้วันที่ 25 พ.ย.ของทุกปี เป็น “วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล” ด้วยเหตุนี้ ทางสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย จึงกำหนดจัดกิจกรรมวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรม “การวางตัวเองเชิงบวก” กิจกรรมเปี่ยมคุณค่าที่จัดขึ้นเพื่อผู้หญิงที่ประสบปัญหา ได้แก่ ศิลปะบำบัด โดยมี อัญชนา มีมุตติ นักศิลปะบำบัด และ พิณนรี ยนตรรักษ์ คูเชดโว นักดนตรีบำบัด ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นผู้สอน เมื่อเร็วๆ นี้ ณ บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ในพระอุปถัมภ์ฯ เขตดอนเมือง

ออร์นา ซากิฟ อุปทูตรักษาการ สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวทักทายสมาชิกบ้านพักฉุกเฉินที่เข้าร่วมกิจกรรมว่า ตัวเองมีความเชื่อว่าการยุติความรุนแรงต่อสตรี ถือเป็นรากฐานที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยและสังคมที่มีศีลธรรมอันดี ผู้หญิงทุกคนในโลกต้องตระหนักรู้ว่าถ้าเราส่งเสียง ก็จะมีคนได้ยินและพร้อมจะให้ความช่วยเหลือ อันนี้เป็นประเด็นสำคัญ ผู้หญิงไม่ควรอาย ผู้กระทำต้องเกิดความรู้สึกอายมากกว่า วัตถุประสงค์การจัดงานวันนี้คือการสร้างความตระหนักและรับรู้ให้ทราบถึงปัญหาความรุนแรงที่ผู้หญิงประสบ ทั้งด้านร่างกาย การคุกคามทางเพศ และด้านจิตใจ ซึ่งตัวเองมองว่า ความรุนแรงทางจิตใจแม้ไม่มีบาดแผล แต่ก็หนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน

“ความรุนแรงที่ผู้หญิงประสบ มันไม่ได้เจาะจงบางส่วนหรือกลุ่มอายุ หรือบางพื้นที่ มันเกิดขึ้นทุกแห่งทุกระดับชั้น จึงต้องเน้นย้ำว่าเราต้องส่งเสียงเพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือ ช่วงที่เกิดปัญหาการระบาดของโควิด-19 ขึ้น ทุกคนต่างทราบกันดีว่าหลายครอบครัวมีความกดดันค่อนข้างมาก ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น สำหรับวันนี้ทางเจ้าหน้าที่ของสถานทูตอิสราเอลฯ ทุกคน แต่งกายด้วยชุดสีส้ม นอกจากสื่อสะท้อนถึงการยุติความรุนแรงต่อสตรีทั่วโลกแล้ว สีส้มยังเป็นคำรวมๆ ที่ใช้แทนความหมายว่าเราจะทาโลกเป็นสีส้ม ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงเดี๋ยวนี้!!” อุปทูตรักษาการฯ กล่าว

สำหรับการรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีในประเทศอิสราเอลนั้น ออร์นา ซากิฟ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลว่า ในประเทศอิสราเอลจะมีหน่วยงานเอ็นจีโอมารณรงค์เคลื่อนไหว ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางสังคมกลับโดนสามีทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต จุดประกายให้น้องสาวของเธอลุกขึ้นมาเป็นนักเอ็นจีโออย่างเข้มแข็ง และอีกกรณีหนึ่งที่ทำให้สังคมขับเคลื่อนกลายเป็นแคมเปญใหญ่ ก็คือ ผู้หญิงคนหนึ่งโดยสามีทำร้ายจนเสียโฉม เธอเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ของอิสราเอลที่กล้าออกมา พูดต่อหน้าสื่อว่า “ฉันเป็นเหยื่อ ฉันไม่จำเป็นต้องอาย คนต้องอายคือคนที่กระทำ” การกระทำอันกล้าหาญของเธอกลายเป็นแคมเปญที่โด่งดังมาก ในฐานะที่ตัวเองเป็นสตรีคนหนึ่ง คิดว่าควรจะกระทำต่อเนื่อง เพราะสุดท้ายจะนำไปสู่การปฏิบัติจริง

ช่วงท้ายของกิจกรรมวันนี้ อุปทูตรักษาการ สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยและคณะเจ้าหน้าที่ ได้มอบของที่ระลึกเป็นสร้อยข้อมือร้อยลูกปัดสีส้มและ “ขนมโดนัท” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขนมในเทศกาลฮานุกกะห์ (Hanukkah) เทศกาลแห่งแสงสว่างและการอุทิศตน แก่ผู้ที่มาร่วมงานด้วย.