วันที่ 2 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี พ่อ-แม่ ของ น.ส.พัชราภา เกรัมย์ หรือ น้องหญิง อายุ 21 ปี นศ.นิติศาสตร์ ราชภัฏบุรีรัมย์ เข้าร้องต่อสื่อมวลชนว่าลูกสาว ถูกรถเบนซ์ชนเสียชีวิต ซึ่งฝ่ายคนขับรถเบนซ์ที่มีประกันชั้น 1 ยอมรับผิดทุกอย่าง และต่อมาศาลพิพากษาให้บริษัทประกันจ่ายเงิน ค่าสินไหมทดแทน 2.5 ล้านบาท แต่บริษัทประกันฯ กลับเพิกเฉยไม่ยอมจ่ายนั้น

ล่าสุด นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อศาลอาญามีคําพิพากษาถึงที่สุดว่า ผู้ขับขี่รถยนต์คันเอาประกันภัย กระทำความผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้นางสาวภัชราภา เกรัมย์ ถึงแก่ความตาย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในคดีว่าผู้ตายมีส่วนประมาท แต่อย่างใด บริษัทในฐานะผู้รับประกันภัยจึงมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิต ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ที่กำหนดว่า

“บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญเสีย หรือความ เสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแก่บุคคลภายนอก ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย”

อย่างไรก็ตาม เมื้อปรากฏว่าบริษัทปฏิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จนกระทั่งมีการยื่นเรื่องร้องเรียน ต่อ คปภ. ซึ่งสํานักงาน คปภ. จ.นนทบุรี ได้แจ้งความเห็นให้บริษัทพิจารณาทบทวน และดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้อง แต่บริษัทยังคงยืนยันปฏิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แม้ว่าจะได้ทราบว่าศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดแล้ว

นายสุทธิพล กล่าวว่า การกระทําของบริษัท จึงเข้าข่ายเป็นการจงใจฝ่าฝืนข้อตกลงแห่งสัญญาประกันภัย อันเป็นความผิดฐานประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และปรับรายวันต่อเนื่อง ไม่เกินวันละ 2 หมื่นบาท จนกว่าจะได้ชำระเสร็จสิ้น

ส่วนกรณีบริษัทได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน แต่ผลของคำพิพากษาในคดีระหว่างผู้ขับขี่รถคันเอาประกันภัยและผู้เสียชีวิต ซึ่งได้พิพากษาคดีจนถึงที่สุดแล้วยังคงอยู่ และมีผลผูกพันคู่ความ บริษัทในฐานะผู้รับประกันรถยนต์ย่อมต้องมีหน้าที่ในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยสำนักงาน คปภ. จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยยึดถือตามแนวทางของคำพิพากษาดังกล่าว

“สำนักงาน คปภ. จะได้นำเรื่องดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการเปรียบเทียบฯ ในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ โดยจะนำพฤติการณ์ต่างๆ ของบริษัทประกอบการพิจารณากำหนดโทษปรับด้วย”