ตามที่ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ที่ปรึกษากรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ประธานสมัชชามหาคณิสสร ประธานอำนวยการโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยให้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หมู่บ้านรักษาศีล 5 ได้มรณภาพลงแล้วอย่างสงบ ที่ รพ.ศิริราช สิริอายุ 96 ปี 76 พรรษา นั้น

สำหรับประวัติสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มีนามเดิมว่า ช่วง สุดประเสริฐ เกิดเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2468 ที่บ้านเลขที่ 32 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เป็นบุตรชายคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 4 คน ของนายมิ่งและนางสำเภา สุดประเสริฐ ขณะที่มีอายุ 7 ขวบ นายมิ่ง บิดาถึงแก่กรรมลง ญาติจึงให้บรรพชาเป็นสามเณรหน้าไฟตามประเพณีพร้อมกับพี่ชาย หลังเสร็จสิ้นพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว พี่ชายลาสิกขา แต่ยังคงเป็นสามเณรอยู่ระยะหนึ่ง หลังจากนั้น ชีวิตจึงเริ่มผูกพันกับวัดใกล้บ้าน คือ วัดสังฆราชา และวัดลาดกระบัง สำเร็จการศึกษาชั้น ป.4 ของโรงเรียนประชาบาลวัดสังฆราชา พออายุ 14 ปี จึงบรรพชาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2482 ที่วัดสังฆราชา เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ โดยมี พระครูศีลาภิรัต วัดลาดกระบัง เป็นพระอุปัชฌาย์

จากนั้น มุ่งศึกษาพระปริยัติธรรม สอบนักธรรมชั้นตรี–โท ได้ในสำนักศาสนศึกษาวัดสังฆราชา และได้ทราบกิตติคุณของหลวงพ่อสดวัดปากน้ำ เกิดความปรารถนาจะเข้ามาศึกษาต่อภายใต้ร่มบารมีธรรมของหลวงพ่อสด พ.ศ.2484 จึงได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดปากน้ำ โดยพระแจ่ม วัดสังฆราชา เป็นผู้นำมาฝากและได้เข้าอุปสมบท เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2488 ที่พัทธสีมาวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ มีพระครูบริหารบรมธาตุ (ป่วน เกสโร) วัดนางชี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) วัดปากน้ำ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ด้วยความขยันและตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมจึงสอบได้มาโดยลำดับเมื่อถึงชั้นสูงหลวงพ่อสดนำไปฝากกับสมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตติโสภโณ) เพื่อให้ศึกษาในสำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พ.ศ.2497 หลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นเปรียญธรรม 9 ประโยค จึงไปรับตัวกลับมาช่วยงานที่วัดปากน้ำ เพื่อสานต่องานและโครงการที่ริเริ่มไว้ หลังการมรณภาพของหลวงพ่อสดได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ สืบต่อมาจนถึงกาลปัจจุบัน

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ สร้างผลงานอันทรงคุณูปการในหลากหลายด้านโดยเฉพาะงานด้านการสาธารณสงเคราะห์ เผยแผ่พระพุทธศาสนา และงานด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยให้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หมู่บ้านรักษาศีล 5 จนเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ

ลำดับงานปกครองสงฆ์ พ.ศ.2500 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2508 เป็นเจ้าคณะภาค 3 พ.ศ.2517 เป็นเจ้าคณะภาค 17 พ.ศ.2528 เป็นเจ้าคณะภาค 7 พ.ศ.2532 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม พ.ศ.2537-2558 เป็นเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ พ.ศ.2547-2556 เป็น คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พ.ศ.2556 เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พ.ศ.2556 เป็นประธานสมัชชามหาคณิสสร พ.ศ.2557-2560 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พ.ศ.2562 เป็นที่ปรึกษามหาเถรสมาคม

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2499 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระศรีวิสุทธิโมลี พ.ศ.2505 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวที พ.ศ.2510 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพวรเวที พ.ศ.2516 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพวรเวที พ.ศ.2530 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ ที่พระธรรมปัญญาบดี พ.ศ.2539 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์

นอกจากนี้ยังได้รับถวายสมณศักดิ์จากต่างประเทศ ประกอบด้วย พ.ศ.2520 ได้รับสมณศักดิ์จากประเทศบังกลาเทศ ที่ พระศาสนธชมหาปัญญาสาระ พ.ศ.2524 ได้รับสมณศักดิ์จากประเทศศรีลังกา ฝ่ายอมรปุรนิกาย ที่ พระชินวรสาสนโสภณเตปิฏกวิสารทคณะปาโมกขาจริยะ พ.ศ.2525 ได้รับสมณศักดิ์จากประเทศศรีลังกา สยามนิกาย ฝ่ายอัสสคิริยะ ที่ พระสาสนโชติกสัทธัมมวิสารทวิมลกิตติสิริ พ.ศ.2525 ได้รับสมณศักดิ์จากประเทศศรีลังกา สยามนิกาย ฝ่ายมัลลวัตตะ ที่ พระธรรมกิตติสิรเตปิฏกวิสารโท พ.ศ.2526 ได้รับสมณศักดิ์จากประเทศศรีลังกา ฝ่ายรามัญวงศ์ ที่ พระติปิฏกปัณฑิตธัมมกิติสสิริยติสังฆปติ พ.ศ.2526 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ของประเทศศรีลังกา สยามวงศ์ ฝ่ายโกฎเฏ ที่ พระอุบาลีวังสาลังการะอุปัชฌายะธรรมธีรมหามุนีเถระพ.ศ.2538 ได้รับสมณศักดิ์จากประเทศศรีลังกา ฝ่ายอมรปุรนิกาย ที่ พระเถรวาทะวังสาลังการะสยามเทสะสาสนธชะ พ.ศ.2557 ได้รับสมณศักดิ์จากรัฐบาลประเทศพม่า ที่ พระอัคคมหาสัทธัมมโชติกธชะ และ พ.ศ.2558 ได้รับสมณศักดิ์จากรัฐบาลประเทศพม่า ที่ อัครมหาบัณฑิต