บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC คือหนึ่งในผู้นำธุรกิจอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)  มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ผ่านการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีไปใช้ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน

ช่วงเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา GC มองหาธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะธุรกิจพลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) จนได้พบกับบริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ ของประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ของโลก ที่มีโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด Polylactic Acid (PLA) โดยใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบในการผลิต มาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ซึ่งตอบโจทย์การเป็นองค์กรที่ดูแลสิ่งแวดล้อมของ GC

ในที่สุด บริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ ได้มาตั้งโรงงานผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพแบบย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ชนิด PLA ในประเทศไทย โดย GC ได้ประสานงานกับภาครัฐ ในการส่งเสริมการลงทุน และเริ่มโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการตั้งโรงงาน จนช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุน บริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด ในกิจการผลิต Polylactic Acid (PLA) ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายประเภท เช่น นำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใส่อาหารเพื่อการบริโภค ถุงชา แคปซูลกาแฟ และบรรจุภัณฑ์อาหาร เส้นใยใช้ในงานพิมพ์ชิ้นงาน 3 มิติ เส้นใยที่ใช้ผลิตผ้าอ้อม ผ้าเช็ดทำความสะอาดหน้ากากอนามัย รวมถึงอุปกรณ์ใช้ภายในบ้าน โครงการนี้จะตั้งอยู่ที่ จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นโครงการไบโอคอมเพล็กซ์แห่งแรกของประเทศไทย

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า GC และ Cargill ในฐานะผู้ถือหุ้น 50% ของบริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพ PLA อันดับหนึ่งของโลก พร้อมเดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ชีวภาพเพื่อสิ่งแวดล้อม หลังจากที่ BOI ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้กับ เนเชอร์เวิร์คส์  โรงงานพลาสติกชีวภาพแบบครบวงจรแห่งใหม่นี้ ใช้เทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพอันดับหนึ่งของโลกและใช้น้ำตาลจากอ้อยของเกษตรกรไทยเป็นวัตถุดิบ

ซึ่งจะช่วยขยายฐานพันธมิตรในตลาด Bio-Polymer รวมถึงการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการใช้วัสดุที่ยั่งยืน โครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 20,000 ล้านบาท และเป็นโครงการแห่งแรกของประเทศไทยที่สอดคล้องกับโมเดล BCG Economy ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันและขยายโอกาสทางการค้าร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ ในเวทีโลก และสนับสนุนให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

สำหรับโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ โรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PLA  จะมีกำลังการผลิต 1.4 แสนตันต่อปี แบ่งออกเป็น 2 เฟส เฟสแรก มีกำลังการผลิต 7.5 หมื่นตันต่อปี ในระยะแรกจะส่งออกประมาณ 90% ของกำลังการผลิต ส่วนเฟสที่ 2 คาดว่าจะดำเนินการในอีก 3-5 ปีหลังจากนั้น ขยายกำลังการผลิตอีก 7.5 หมื่นตันต่อปี

การเดินหน้าลงทุนธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อมของ GC ยังไม่หยุดเพียงเท่านี้  เร็วๆ นี้ GC มีแผนจะเปิดโรงงานรีไซเคิลพลาสติกขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รองรับขยะพลาสติกได้ถึง 6 หมื่นตันต่อปี และจะนำไปผลิตเม็ดพลาสติกเพื่อจำหน่ายอีกครั้ง ได้ประมาณ 4.5 หมื่นตันต่อปี  โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2562 ใช้เงินลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยมีบริษัท แอลพลา จำกัด (ALPLA) เป็นพันธมิตร ร่วมทุนจัดตั้ง บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด (ENVICCO Limited) เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูง ชนิด rPET และ rHDPE ที่มีมาตรฐานสูงแห่งแรกของประเทศไทย โดยโรงงานตั้งอยู่ที่ จ.ระยอง

นอกจากนี้ GC ได้วางแผนยกเลิกผลิตเม็ดพลาสติก ชนิดเกรดที่ใช้สำหรับผลิตถุงพลาสติกหูหิ้ว จำนวน 1.5 แสนตันต่อปี ภายในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2562-2566) และจะหันไปผลิตพลาสติกที่หนาและทนทานขึ้น เพื่อให้เกิดการใช้ได้หลายครั้งและช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกให้น้อยลง

ทั้ง 2 โครงการของการร่วมทุนทางธุรกิจในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนระดับโลก สร้างการเติบโตอย่างสมดุลทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม เน้นการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขในสังคม โดยไม่ได้หวังผลระยะสั้น แต่เน้นผลระยะยาว และGC ยังมีแผนที่จะขยายธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับพันธมิตรอีกมากมายในอนาคต