เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง โพลเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. รอบ 1 (ชีวิตที่สัมผัสได้จริง) กรณีศึกษา 2 กลุ่มประชากรเป้าหมาย ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และกลุ่มเครือข่ายผู้นำชุมชนคน กทม.

โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในการวิเคราะห์ประมวลข้อมูลมิติต่าง ๆ ของความต้องการและตื่นตัวของคน กทม. ด้วยการสำรวจตัวอย่างประชาชนจากทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานครจำนวนทั้งสิ้น 29,595 ตัวอย่าง และสุ่มตัวอย่างเครือข่ายแกนนำชุมชนจาก 2,016 ชุมชน จำนวน 498 ตัวอย่าง ผ่านการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Mode) ทั้งการสัมภาษณ์แบบเคาะประตูบ้าน พบปะคนตอบแบบสอบถาม สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์และแบบตอบเอง ด้วยแพลตฟอร์ม (Platform) ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ กับกลุ่มคนมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่พักอาศัยใน 4 ลักษณะได้แก่ ชุมชนแออัด ชุมชนหมู่บ้านจัดสรร ชุมชนอาคารสูง และอื่น ๆ ระหว่างวันที่ 10 – 18 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.5 ต้องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยเร็ว ในขณะที่ร้อยละ 10.5 ยังไม่ต้องการ

ที่น่าพิจารณาคือ ช่องว่างระหว่าง ความต้องการกับสิ่งที่เห็นจริงของ กรุงเทพมหานคร วันนี้ ในมิติต่าง ๆ ได้แก่ กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางนานาชาติด้านเศรษฐกิจ ที่คนกรุงเทพฯ ต้องการ ร้อยละ 78.8 แต่ที่เห็นจริง ร้อยละ 33.3 กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งสุขภาวะ สะอาด ที่คนกรุงเทพฯ ต้องการ ร้อยละ 83.4 แต่ที่เห็นจริงร้อยละ 30.0 กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางเรียนรู้การศึกษาของบุตรหลานคนกรุงเทพฯ ที่ใช้ประโยชน์ต่อชุมชนที่พักอาศัยได้จริง ที่คนกรุงเทพฯ ต้องการ ร้อยละ 82.0 แต่ที่เห็นจริง ร้อยละ 37.8 กรุงเทพฯ มีระบบการจราจร สะดวกสบาย ไม่ติดขัด ที่คนกรุงเทพฯ ต้องการ ร้อยละ 81.7 แต่ที่เห็นจริง ร้อยละ 17.7 ในขณะที่ กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งความปลอดภัย ที่คนกรุงเทพฯ ต้องการ ร้อยละ 82.0 แต่ที่เห็นจริง ร้อยละ 24.6

ที่น่าสนใจคือ ภาพลักษณ์ ด้านความเป็นนักบริหารรุ่นใหม่ เก่ง ทันสมัย นึกถึงใครอันดับแรก ในกลุ่มคนที่มีข่าวว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ผู้ว่าฯ กทม. จำแนกระหว่าง เครือข่ายแกนนำชุมชน กับ ประชาชน คน กทม. พบว่า จำนวนมากที่สุดหรือส่วนใหญ่ทั้งกลุ่ม เครือข่ายแกนนำชุมชน และ ประชาชนคน กทม. ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 31.7 ของแกนนำชุมชน กับ ร้อยละ 53.2 ของคน กทม. ระบุ ยังนึกไม่ออก ยังไม่มีใครในใจ ยังว่างอยู่ ไม่นึกถึงใครเลย  อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มแกนนำชุมชน นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ได้ร้อยละ 27.1 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ร้อยละ 24.9 และ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ได้ร้อยละ 10.6 และกลุ่มอื่น ๆ เช่น นางสาวรสนา โตสิตระกูล และนาย ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร เป็นต้น ได้ร้อยละ 5.7

นอกจากนี้ ในกลุ่มตัวอย่างประชาชนคน กทม. เกินครึ่งหรือร้อยละ 53.2 ยังนึกไม่ออก ยังไม่มีใครในใจ ยังว่างอยู่ และไม่นึกถึงใครเลย เมื่อพูดถึงภาพลักษณ์ด้าน ความเป็นนักบริหารรุ่นใหม่ ทันสมัย อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 21.2 ระบุเป็น นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ร้อยละ 18.7 ระบุนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และร้อยละ 3.7 ของประชาชนคนกทม. ทั่วไป ระบุ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง และที่เหลือหรือร้อยละ 3.2 ระบุอื่น ๆ ตามลำดับ

ที่น่าสนใจคือ ภาพลักษณ์ด้านการเข้าถึงชุมชน พบว่า อันดับหนึ่ง คือ ทั้งกลุ่มเครือข่ายแกนนำชุมชนร้อยละ 32.5 และประชาชนคน กทม.ทั่วไปร้อยละ 47.2 ยังนึกไม่ออก ยังไม่มีใครในใจ ยังว่างอยู่ ไม่นึกถึงใครเลย อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 28.7 ของกลุ่มแกนนำชุมชน ระบุเป็น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ร้อยละ 19.7 ระบุเป็น นายสุชัชชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ร้อยละ 13.3 ระบุ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง และร้อยละ 5.8 ระบุอื่น ๆ ตามลำดับ นอกจากนี้ ร้อยละ 38.6 ของประชาชน คน กทม. ระบุเป็น นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ ร้อยละ 10.0 ระบุเป็น นาย สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ร้อยละ 2.6 ระบุ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง และร้อยละ 1.6 ระบุอื่น ๆ ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามถึง ความตั้งใจจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. พบว่า ส่วนใหญ่ในกลุ่มประชาชน คน กทม. ทั่วไป หรือร้อยละ 43.8 และแกนนำชุมชนร้อยละ 29.7 ยังไม่มีใครในใจ ยังไม่รู้มีเลือกตั้งเมื่อไหร่เลย ยังไม่ตัดสินใจ ยังไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ร้อยละ 17.6 เพราะมีประสบการณ์ ติดดินลงพื้นที่ต่อเนื่อง ปฏิบัติงานจริง ไม่สร้างภาพ เข้าถึงชุมชน ประชาชนเข้าถึงได้ เป็นผู้สมัครอิสระไม่สังกัดพรรค เชื่อมั่นว่าทำงานกับทุกพรรคการเมืองได้ มีแนวคิดและวิสัยทัศน์กว้างไกล เป็นต้น นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ได้ร้อยละ 14.2 เพราะ เป็นคนรุ่นใหม่กับแนวคิดเปลี่ยนกรุงเทพฯ มีฐานสนับสนุนจากพรรค จะทำอะไรได้มากกว่าทำเพียงลำพังอิสระ และอยากลองคนใหม่ และ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ได้ร้อยละ 12.6 เพราะเป็นคนจริงจัง มีความกล้าหาญ ทำงานหนัก เป็นอดีตตำรวจ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 11.8 ระบุอื่น ๆ  ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 28.1 ของเครือข่ายแกนนำชุมชน ระบุเป็น นายชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองลงมาคือ ร้อยละ 22.5 ระบุ เป็นนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ร้อย ละ 9.2 ระบุเป็น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง และร้อยละ 10.5 ระบุอื่น ๆ ตามลำดับ

เมื่อจำแนกแบ่งสัดส่วนของประชาชนคน กทม. ที่ถูกศึกษาในโครงการนี้ ออกตามเขตต่าง ๆ ทั้ง 50 เขต พบว่า ประชาชนคน กทม. ส่วนใหญ่ยังไม่ตัดสินใจ ยังนึกไม่ออก ไม่แน่นอนว่าจะเลือกใครเป็น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตัวเลขส่วนใหญ่อยู่ที่กว่าร้อยละ 40 ของตัวอย่างทั้งหมด โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กับ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง มีสัดส่วนที่เกาะกลุ่มกันในทุกเขต อยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 กว่า ๆ พอ ๆ กัน ไม่ได้มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในหลายพื้นที่ ตามที่แสดงในอินโฟกราฟิกแผนที่ กทม. ของผลการสำรวจครั้งนี้

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า โพลเลือกตั้งครั้งนี้ชี้ให้เห็นนัยสำคัญ ๆ หลายประการ เช่น คนที่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่ ยังไม่ตัดสินใจ ยังนึกไม่ออกว่าจะเลือกใคร ยังไม่แน่นอน เพราะยังไม่รู้ว่าจะมีเลือกตั้งเมื่อไหร่ ยังไม่รู้ว่ามีใครลงสมัครแน่นอนบ้าง อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ต้องการให้มีความชัดเจนและจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว นอกจากนี้ สัดส่วนของคนที่ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกใคร ยังคงเกาะกลุ่มกันไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและยังไม่แน่นอน อาจเปลี่ยนใจได้เช่นกัน ทั้งนี้การสังกัดพรรคการเมือง ยังมีนัยสำคัญต่อเสียงของแกนนำชุมชน อย่างไรก็ตาม แกนนำชุมชนและประชาชน คือ Voter ที่ต่างมีสิทธิและเสียงเท่ากัน

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า นับจากนี้ไปการออกแบบกลยุทธ์ เพื่อชนะใจคนกรุงเทพมหานคร ที่ส่วนใหญ่มีความต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างมากและยังไม่พอใจต่อกรุงเทพมหานครวันนี้ เพราะมีช่องว่างที่กว้างระหว่างความต้องการของคนกรุงเทพมหานคร กับ สิ่งที่เป็นจริงวันนี้ เช่น กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ปลอดภัย กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีระบบการจราจรที่สะดวกสบายไม่ติดขัด กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ในการศึกษาของบุตรหลานคนกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งสุขภาวะ และศูนย์กลางนานาชาติด้านเศรษฐกิจ ที่มิติเหล่านี้คนกรุงเทพฯ สะท้อนออกมาในผลสำรวจว่า ยังไม่เห็นว่าเป็นจริงแต่มีความต้องการให้เป็นอยู่มาก

ผู้สมัครชิงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงถูกจับตาเป็นอย่างมากที่ผู้สมัครต้องชัดเจนและแสดงออกถึง วิสัยทัศน์ ความรู้ ประสบการณ์ ติดดินเข้าถึงปัญหาชุมชน ไม่สร้างภาพ จริงใจและตรงไปตรงมา พร้อมจะทำงานกับทุกคนได้ และต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า กรุงเทพมหานครจะเป็นอย่างไรในอีก 4 ปีข้างหน้า ทั้งในมิติของเมืองหลวงของประเทศ เมืองศูนย์กลางของอาเซียน เมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของโลก และในมิติที่เป็นบ้านและต้องยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นของกลุ่ม Voter (คนมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) ที่มีความต้องการสูง