ในรอบปี 2564 มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในแวดวงศาสนาและวัฒนธรรม ทีมข่าวได้รวบรวม 10 ประเด็นเด่นมานำเสนอ

พส. “ไพรวัลย์-สมปอง” สึก

กลายเป็นข่าวฮืฮฮาในแวดวงคณะสงฆ์ขึ้นมาทันทีเมื่อ 2 พระนักเทศน์ชื่อดังแห่งวัดสร้อยทอง “พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต” และ “พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ” ที่มีแฟนคลับติดตามรวมกันมากกว่า 2 ล้านคน ลาสิกขา (สึก) ไปอย่างไม่มีใครคาดคิด เพราะทั้งสองคนกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง ไลฟ์สดร่วมกันแต่ละครั้งมีคนเข้าไปดูมากกว่า 200,000 คน โดยพระมหาไพรวัลย์ เข้าพิธีสึกก่อนในวันที่ 3 ธ.ค. 2564 โดยระบุเหตุผลว่าที่สึก เพราะต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมในการแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดสร้อยทอง และเพื่อต้องการกลับไปดูแลแม่ที่ป่วย ขณะที่พระมหาสมปอง ได้เข้าพิธีสึกเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2564 โดยมีเหตุผลเพื่อต้องการไปดูแลแม่ที่ป่วยเช่นเดียวกัน และมีแผนที่จะไปทำแบรนด์ผลิตขนมจีน นํ้าพริก นํ้าผึ้งขาย จัดงานสัมมนาด้านธรรมะ ทั้งร่วมงานกับศิลปิน ซึ่งจะมีการนำรายได้ส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือวัด รวมทั้งพระภิกษุสามเณรด้วย แต่ก็ไม่ปฏิเสธโอกาสในการที่จะกลับมาบวชใหม่เช่นกัน

สิ้น “สมเด็จช่วง” ร่มโพธิ์แห่งมหานิกาย

ข่าวเศร้าของวงการคณะสงฆ์ส่งท้ายปี 2564 คงหนีไม่พ้นการมรณภาพของ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) อดีตเจ้าอาวาสวัดปากนํ้า ภาษีเจริญ อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ที่มรณภาพด้วยโรคไตวายเรื้อรัง เมื่อวันที่9 ธ.ค.2564 สิริอายุ 96 ปี 76 พรรษา หลังเข้ารับการรักษาที่ รพ.ศิริราช อยู่นานกว่า 1 ปี 8 เดือน นับเป็นการสูญเสียพระมหาเถระที่มีคุณูปการ และบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในงานด้านการสาธารณสงเคราะห์ เผยแผ่พระพุทธศาสนา และงานด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยให้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หมู่บ้านรักษาศีล 5 จนเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ ที่สำคัญสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ยังดำรงตำแหน่ง ประธานสมัชชามหาคณิสสร ซึ่งเปรียบได้กับประธานสงฆ์ของฝ่ายมหานิกายด้วย

“แม่ชีศันสนีย์” คืนสู่ธรรมชาติ

นอกจากนี้ยังมีประเด็นการสูญเสียบุคคลสำคัญในแวดวงพระพุทธศาสนา เมื่อมูลนิธิเสถียรธรรมสถาน แจ้งข่าวการคืนสู่ธรรมชาติของ แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน ด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2564 เวลา 18.23 น. สิริอายุ 68 ปี 1 เดือน 7 วัน หลังจากที่ต้องต่อสู้กับโรคร้ายมาตั้งแต่ปี 2560

ปลดฟ้าผ่าเจ้าคณะจังหวัด “ปทุมธานี-ฉะเชิงเทรา-กาฬสินธุ์”

ข่าววงการคณะสงฆ์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในปี 2564 ต้องยกให้ประเด็นประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 รับทราบการปลดพระราชปริยัติสุนทร (อมรภิรักษ์ ปสนฺโน) ออกจากตำแหน่งเจ้าคณะ จังหวัดฉะเชิงเทรา พระธรรมรัตนาภรณ์ (สมศักดิ์ โชตินฺธโร) ออกจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี และพระเทพสารเมธี (บัวศรี ชุตินฺธโร) ออกจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธรรมยุต) และแต่งตั้ง พระราชภาวนาพิธาน (ศิริวัฒน์ สิริวฑฺฒโน) เป็นเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา พระราชสุทธิธรรมาจารย์ (สำอาง ตานทินฺโน) เป็นเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี พระครูสุทธิญาณโสภณ (เล็ก สุทฺธิญาโณ) เป็นเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธ) โดยที่บรรดาพุทธศาสนิกชน และลูกศิษย์ของพระเถระทั้ง 3 รูป ที่ถูกปลดต่างงุนงง เพราะในคำสั่งปลดนั้นไม่ได้ระบุถึงสาเหตุความผิด ขณะที่กรรมการ มส. ออกมาปฏิเสธว่าไม่ทราบเรื่องการปลดดังกล่าว จึงเกิดการตั้งคำถามของคณะศิษย์ว่ามีการสอดไส้คำสั่งปลดหรือไม่ จึงนำมาสู่การยื่นเรื่องร้องเรียนไปตามหน่วยงานต่าง ๆ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มีคำตอบที่แท้จริง ส่วนที่ จ.กาฬสินธุ์ แม้ว่าพระเทพสารเมธี จะขอยุติเรื่องนี้ แต่ดูเหมือนบรรดาคณะสงฆ์ ลูกศิษย์ จะไม่ยอม มีทั้งการที่เจ้าคณะอำเภอฝ่ายธรรมยุตทยอยยื่นหนังสือลาออกและต่อต้านพระครูสุทธิญาณโสภณ ทำให้ขณะนี้พระครูสุทธิญาณโสภณ ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ได้

โปรดเกล้าฯ กรรมการ มส. ชุดใหม่

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) แทนชุดเดิมที่ครบวาระ 2 ปี ไปเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2564 ประกอบด้วย 1. สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) วัดบวรนิเวศ 2. สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) วัดเทพศิรินทราวาส 3. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) วัดไตรมิตรวิทยาราม 4. สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธิ์ เขมงฺกโร) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม 5. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน อคฺคชิโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม 6. สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) วัดไตรมิตรวิทยาราม 7. พระพรหมโมลี (สุชาติ ธมฺมรตโน) วัดปากนํ้า 8. พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) วัดประยุรวงศาวาส 9. พระพรหมวิสุทธาจารย์ (มนตรี คณิสฺสโร) วัดเครือวัลย์ 10. พระพรหมเสนาบดี (พิมพ์ ญาณวีโร) วัดปทุมคงคา 11. พระวิสุทธาธิบดี (เชิด จิตฺตคุตฺโต) วัดสุทัศนเทพวราราม 12. พระพรหมมุนี (บุญเรือง ปุญฺญโชโต) วัดพระศรีมหาธาตุ 13. พระพรหมกวี (พงศ์สันต์ ธมฺมเสฏฺโฐ) วัดกัลยาณมิตร 14. พระพรหมวัชราจารย์ (พูนศักดิ์ วรภทฺทโก) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม 15. พระพรหมวชิรากร (สุนทร สุนฺทราโภ) วัดราชผาติการาม 16. พระธรรมธัชมุนี (อมร ญาโณทโย) วัดปทุมวนาราม 17. พระธรรมวิสุทธาจารย์ (แสวง ธมฺเมสโก) วัดบวรนิเวศ 18. พระธรรมวชิรมุนี (บุญชิต ญาณสํวโร) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ 19. พระเทพญาณวิศิษฎ์ (ชัยทวี คุตฺตจิตฺโต) วัดปทุมวนาราม และ 20. พระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต) วัดเทวราชกุญชร พบว่ามีกรรมการ มส.หลุดจากตำแหน่งไป 5 รูป ประกอบด้วย 1.พระวิสุทธิวงศาจารย์ (มรณภาพ) 2.พระธรรมบัณฑิต 3.พระธรรมปริยัติโมลี  4.พระธรรมกิตติเมธี และ 5.พระธรรมรัตนดิลก และที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ มส. ใหม่ 5 รูป ประกอบด้วย 1. พระพรหมกวี 2. พระธรรมวิสุทธาจารย์ 3.พระธรรมวชิรมุนี 4. พระเทพญาณวิศิษฎ์ และ 5. พระเทพคุณาภรณ์

อดีต 5 พระคดีเงินทอนกลับมาห่มจีวร

คณะสงฆ์วัดสระเกศฯ ได้ประกอบพิธีเจริญชัยมงคลคาถา ในโอกาสพระภิกษุอธิษฐานครองผ้าไตรจีวรรับเข้าหมู่สงฆ์ ประกอบด้วย อดีตพระพรหมสิทธิ อดีตพระราชกิจจาภรณ์ อดีตพระราชอุปเสณาภรณ์ อดีตพระศรีคุณาภรณ์ และอดีตพระครูสิริวิหารการ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวคณะสงฆ์วัดสระเกศฯ ถือว่า อดีตพระเถระทั้ง 5 รูป โดนคดีเงินทอนวัด แต่ไม่ได้มีความผิดเข้าข่ายอาบัติปาราชิกซึ่งจะต้องทำให้พ้นจากความเป็นสงฆ์ เนื่องจากในคดีทุจริตการจัดสรรเงินงบประมาณ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในคำพิพากษาของศาลระบุว่าไม่พบการทุจริต ขณะที่ในคดีฐานฟอกเงิน ทางศาลแพ่งก็ได้มีการพิพากษาแล้วว่าไม่มีความผิด และให้คืน
เงินที่อายัดไปทั้งหมดแล้ว ดังนั้นเมื่อไม่มีการทุจริต จึงไม่มีความผิดทางวินัยสงฆ์ที่เข้าข่ายอาบัติปาราชิก อย่างไรก็ตามที่ประชุมมหาเถรสมาคมได้นำเรื่องนี้เข้าพิจารณา มีความเห็นว่าอดีตพระเถระทั้ง 5 รูป ได้ถูกดำเนินการให้พ้นจากสมณเพศ ตามมาตรา 30 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 ที่ระบุว่า เมื่อจะต้องจำคุก กักขังหรือขังพระภิกษุรูปใดตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลมีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ และให้รายงานให้ศาลทราบถึงการสละสมณเพศแล้ว

คืนทับหลัง  “ปราสาทหนองหงส์-ปราสาทเขาโล้น” กลับไทย

หลังจากทับหลังทั้งสองรายการได้สูญหายไปจากประเทศไทยราว พ.ศ. 2508-2511 ต่อมาได้ปรากฏทับหลังทั้งสองรายการนี้ อยู่ในฐานข้อมูลโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย (Asian Art Museum) เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย และเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2561 กรมศิลปากรได้ส่งข้อมูลให้กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ประสานกับหน่วยงานในสหรัฐอเมริกา คือ สำนักงานสืบสวนความมั่นคงเพื่อมาตุภูมิ กระทั่งมีการนำขึ้นพิจารณาในชั้นศาล จนในที่สุดพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียยอมรับว่า ทับหลังทั้งสองรายการเป็นกรรมสิทธิ์ของไทย และยินยอมให้ยึดทับหลังเพื่อส่งกลับคืนประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2564 ทับหลังทั้งสองรายการได้กลับมาสู่ประเทศไทย และมีพิธีบวงสรวง และพิธีรับมอบอย่างยิ่งใหญ่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ปลดฟ้าผ่าศิลปินแห่งชาต

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้มีหนังสือแจ้ง นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ ระบุว่า ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) พิจารณาในวาระการประชุมลับ เรื่องนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2554 ว่า กวช. มีมติให้ยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ เนื่องจากมีความประพฤติเสื่อมเสียต่อการเป็นศิลปินแห่งชาติตามข้อ 10 วรรคสอง ของกฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก และประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2555 และแก้ไขเพิ่มเติมในกฎกระทรวงกำหนดสาขา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก และประโยชน์ตอบแทนของศิลปินแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ข้อ 2 อย่างไรก็ตามนายสุชาติ ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อขอความเป็นธรรมในเรื่องดังกล่าว ขณะที่นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ยืนยันว่าการปลดนายสุชาติ ไม่เกี่ยวการเมือง แต่ประเด็นหลักคือการที่นายสุชาติโพสต์ข้อความไม่เหมาะสมกับสถาบันอันเป็นที่เคารพเทิดทูน ซึ่งศิลปินแห่งชาติต้องมีความประพฤติที่เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม

ตั้งลูกหม้อขึ้นอธิบดีกรมศิลปากร

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติตั้งนายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ เป็นอธิบดีกรมศิลปากรแทนนายประทีป เพ็งตะโก ที่เกษียณอายุราชการ โดยนายกิตติพันธ์ นับเป็นลูกหม้อกรมศิลปากร เคยเป็นนายช่างสำรวจ 2 กรมศิลปากร ระหว่างปี 2528-2531, วิศวกรโยธา 4 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จากนั้นกลับกรมศิลปากร ในตำแหน่งวิศวกรโยธา 4-8 พ.ศ. 2534-2551 วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ พ.ศ. 2551-2556 ผอ.สำนักสถาปัตยกรรม พ.ศ. 2556-2559 และรองอธิบดีกรมศิลปากร พ.ศ. 2559-2560 ก่อนถูกโยกนั่งผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และวันที่ 8 ส.ค. 2560 ครม. ตั้งนั่งรองปลัด วธ. วันที่ 28 ส.ค. 2561 ครม.แต่งตั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการศาสนาวันที่ 29 ก.ย. 2563 กลับมานั่งรองปลัด วธ. ก่อนได้ย้ายกลับกรมศิลปากร ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร

ยูเนสโกขึ้นทะเบียน “โนรา” มรดกของมนุษยชาติ

ปิดท้ายที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศรับรอง ขึ้นทะเบียน “โนรา” (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2564 โดย “โนรา” นับเป็นรายการที่ 3 ของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก ต่อจากโขน เมื่อปี 2561 และนวดไทย เมื่อปี 2562.