ปี 2564 “วงการสีกากี” ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์หนักจากพฤติกรรม “สุดโหด” ของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ โจ้ อดีต ผกก.สภ.นครสวรรค์ และพวก ที่เป็นอดีตตำรวจชุดปราบปรามยาเสพติด จ.นครสวรรค์ รวม 7 คน ร่วมกันก่อเหตุใช้ “ถุงดำ” คลุมศีรษะ นายจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ หรือมาวิน ผู้ต้องหาคดียาเสพติด อ้างเค้นข้อมูล จนเสียชีวิต เหตุเกิดภายในพื้นที่สถานีตำรวจ

ภาพวินาทีกระทำทรมานที่เผยแพร่สู่สาธารณะ ไม่เพียงเป็นหลักฐานทางคดี แต่ทางสังคม นี่คือเครื่องตอกยํ้าหนึ่งในพฤติกรรม “นอกรีต” รุนแรง ที่น่าจะเป็น “ครั้งแรก” กับการปรากฏภาพหลักฐานมัดแน่น

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือโทษทางอาญา ในฐานะข้าราชการ ความเฉียบขาดของการพิจารณา “โทษทางวินัย” คือความคาดหวังที่สะท้อนถึงบรรทัดฐานสำคัญขององค์กร

ข้อมูลจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ตั้งแต่เดือน ม.ค.-1 พ.ย. 2564 มีข้าราชการตำรวจกระทำผิดวินัยร้ายแรงถูกลงโทษ “ปลดออก” และ “ไล่ออก” จำนวน 244 ราย แบ่งเป็นปลดออก 72 ราย ไล่ออก 172 ราย

ความผิดมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

อันดับ 1 ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จำนวน 67 ราย ปลดออก 8 ราย ไล่ออก 59 ราย

อันดับ 2 ละทิ้งหน้าที่ จำนวน 56 ราย ปลดออก 16 ราย ไล่ออก 40 ราย

อันดับ 3 บกพร่องต่อหน้าที่ จำนวน 51 ราย ปลดออก 28 ราย ไล่ออก 23 ราย

อันดับ 4 ทุจริตต่อหน้าที่ จำนวน 24 ราย ไล่ออก 24 ราย

อันดับ 5 ความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน จำนวน 15 ราย ปลดออก 6 ราย ไล่ออก 9 ราย

ทั้งนี้ หากแยกข้าราชการตำรวจที่ถูกลงโทษ ปลดออก และไล่ออก ตามสังกัด 5 อันดับแรก

อันดับ 1 ตำรวจภูธรภาค 9 รวม 70 ราย ปลดออก 19 ราย ไล่ออก 51 ราย

อันดับ 2 ตำรวจภูธรภาค 4 รวม 33 ราย ปลดออก 8 ราย ไล่ออก 25 ราย

อันดับ 3 ตำรวจนครบาล รวม 25 ราย ปลดออก 5 ราย ไล่ออก 20 ราย

อันดับ 4 ตำรวจภูธรภาค 5 รวม 22 ราย ปลดออก 13 ราย ไล่ออก 9 ราย

อันดับ 5 ตำรวจตระเวนชายแดน รวม 18 ราย ปลดออก 2 ราย ไล่ออก 16 ราย

แยกให้เห็นภาพรายเดือน ข้อมูลตั้งแต่ ม.ค.-ต.ค.2564 พบว่า

ม.ค. จำนวน 23 ราย ปลดออก 8 ราย ไล่ออก 15 ราย

ก.พ. จำนวน 27 ราย ปลดออก 8 ราย ไล่ออก 19 ราย

มี.ค. จำนวน 33 ราย ปลดออก 8 ราย ไล่ออก 25 ราย

เม.ย. จำนวน 23 ราย ปลดออก 7 ราย ไล่ออก 16 ราย

พ.ค. จำนวน 17 ราย ปลดออก 3 ราย ไล่ออก 14 ราย

มิ.ย. จำนวน 12 ราย ปลดออก 3 ราย ไล่ออก 9 ราย

ก.ค. จำนวน  21 ราย ปลดออก 8 ราย ไล่ออก 13 ราย

ส.ค. จำนวน 31 ราย ปลดออก 10 ราย ไล่ออก 21 ราย

ก.ย. จำนวน 24 ราย ปลดออก 9 ราย ไล่ออก 15 ราย

ต.ค. จำนวน 33 ราย ปลดออก 8 ราย ไล่ออก 25 ราย

“ทีมข่าวอาชญากรรม” มีโอกาสสอบถามภาพรวมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจผ่าน “ผู้นำองคาพยพเหล่าผู้พิทักษ์” อย่าง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ในฐานะ ผบ.ตร. ยอมรับว่าจริง ๆ แล้วตำรวจกว่า 2 แสนนาย ไม่สามารถรู้จักทุกคน แต่เรามีการปกครองตามลำดับชั้น ซึ่งตอนมอบนโยบายกำชับผู้บังคับบัญชาให้ลงไปใกล้ชิดกับลูกน้อง หลักการคือต้องรู้จักตัวตน นิสัยใจคอ ความประพฤติ โดยเฉพาะเวลาจะมอบหมายหน้าที่อะไร

เช่น มอบหมายงานยาเสพติด คนที่มอบหมายออกคำสั่งจะต้องรับรองความประพฤติของคนในทีมทุกคนที่ออกไป ไม่ใช่ตั้งกันตามตำแหน่งหน้าที่แล้วมาบอกว่า “ผมไม่รู้จักเขา” หน้าที่พิเศษแบบนี้ต้องดูว่าเคยถูกร้องเรียนหรือไม่ สอบถามเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชาที่ใกล้ชิดก็รู้แล้วพฤติการณ์เป็นยังไงเคยมีอะไรไหม

“คำว่าดูแลใกล้ชิดต้องรู้จักเลยว่า สมมุติเรามีลูกน้อง 50 คน คนไหนที่มีปัญหาต้องรู้ เป็น สวป. (สารวัตรปราบปราม) ไม่รู้ไม่ได้ เรามีสายตรวจอยู่ในมือ 20-30 คน แบ่งเป็นสามผลัด เราจะรู้ว่าผลัดไหนที่มีปัญหา คนไหนมีพฤติการณ์ไม่ค่อยน่า
ไว้วางใจ รู้แล้วก็จัดการแก้ไขซะ ถ้าแก้ไม่ได้ก็เปลี่ยนหน้าที่ บางทีก็เรียกมาคุย หรือบางทีก็ให้อยู่ในจุดที่ไม่สามารถสร้างเรื่อง สร้างปัญหา เรื่องพวกนี้อยู่ที่ความเอาใจใส่”

เมื่อถามถึงความเข้มงวดกับการเอาผิดทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำผิดนั้น พล.ต.อ.สุวัฒน์ ระบุ ถ้าจะต้องลงโทษ เราจะลงโทษผู้บังคับบัญชาที่ใกล้ชิด แต่ไม่ใช่ว่าจะลงโทษทุกราย ต้องดูเป็นกรณีไปว่าเรื่องนี้ผู้บังคับบัญชาควรจะรู้หรือไม่ว่ามีพฤติกรรมแบบนี้ และมีเรื่องร้องเรียนมาตลอด ทำไมยังปล่อยให้ทำหน้าที่นี้อยู่

ตัวอย่างเช่น มีนิสัยชอบดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาปฏิบัติราชการหรือว่าขาดงานราชการเป็นประจำทุกอย่างจะมี “สัญญาณ” มาก่อน ไม่ใช่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ส่วนใหญ่ความประพฤติที่ออกนอกลู่นอกทางจะมีสัญญาณมาก่อนล่วงหน้าเสมอ

และเมื่อเกิดเรื่องขึ้นมาแล้ว การลงโทษต้อง “เป็นธรรม” และ “รวดเร็ว” และก็ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร ไม่มีเส้น ไม่มีสาย ผิดคือผิด ถูกคือถูก ต้องยึดหลักนี้ให้ได้ ถ้าไม่ใช่ เราต้องใช้เวลาทำให้เค้าเห็นว่าเมื่อก่อนเป็นยังไง แต่ตอนนี้ไม่ใช่ จะเป็นใหญ่เป็นโตมาจากไหน ไม่เกี่ยว ไม่สนใจไม่ได้ดูหน้าคน ดูสิ่งที่เขาทำ ถ้าผิดก็คือผิด ลงโทษไป

การลงโทษให้คุณให้โทษต้องชัดเจน ถ้าไม่ชัดเจนคนก็จะไม่เคารพกติกา แต่ว่าเราก็ต้องไปดูสาเหตุของเรื่องด้วยว่า สาเหตุที่ทำผิดวินัยระยะยาวจะแก้ยังไง สาเหตุเพราะความไม่รู้ ไม่มีความรู้ ไม่พอเลี้ยงชีพ แตกความสามัคคีกันในหน่วย ปัญหาครอบครัว เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว การให้ความรู้และฝึกอบรม การช่วยแก้ปัญหาหนี้สิน การสนับสนุนสวัสดิการครอบครัวจะช่วยได้ไหม การลงโทษหรือให้โทษถือเป็นเรื่องสำคัญ

สำหรับกรณีอดีต ผกก.โจ้ กับพวก ที่ส่งผลกระทบภาพลักษณ์วงการตำรวจชัดเจน ในปีหน้าจะมีมาตรการใดออกมาป้องกันเหตุการณ์ซํ้ารอย เรื่องนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า ในอดีตเคยมีคดีที่ตำรวจนำผู้หญิงไปฆ่า ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรก แต่ก็อย่างที่บอกไว้ว่าการลงโทษต้องรวดเร็ว ส่วนการป้องกันเราจะไปหาวิธีอื่นป้องกัน บางครั้งเราไม่สามารถรู้ได้ว่าใครไปทำอะไรที่ไหน เว้นแต่คนใกล้ชิด คงทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ขอให้พี่น้องประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตาและรายงานเรื่องความประพฤติไม่ดีของตำรวจเข้ามา ก่อนที่จะไปถึงความรุนแรง ความประพฤติเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็รายงานได้ เรื่องนี้ตนได้มอบหมายให้ทาง จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ทำช่องทางการรายงาน และแจ้งเหตุเข้ามา ซึ่ง จตช. ได้ทำมา 1 ปีแล้วก็ต้องมาดูกันว่าจะได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร

“ความประพฤติเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผิดวินัยจะละเลยไม่ได้ ต้องพยายามให้เข้ารูปเข้ารอย อย่างอดีต ผกก.โจ้ อาจจะทำแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว มีเรื่องร้องเรียนก็ช่วยกันแบบนี้ไม่ได้ เราจะต้องเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ จะเรื่องเล็กเรื่องน้อย ก็สามารถเป็นเรื่องใหญ่ได้ ถึงได้บอกว่าการตรวจสอบเรื่องของวินัยต้องรวดเร็วและเคลียร์ เราทำไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ต้องเน้นและเอาใจใส่”

พล.ต.อ.สุวัฒน์ เผยว่า อยากฝากถึงข้าราชการตำรวจไม่ว่าจะยุคนี้หรือยุคไหน การเป็นตำรวจไม่ได้ง่ายเลย ยากมาก แต่เมื่อเราเข้ามาแล้วต้องตั้งใจ เป็นตำรวจที่ดี ทำให้ดี การเป็นตำรวจที่ดีขั้นต้นคือการรักษาวินัย การรักษากฎหมาย การทำตัวเป็นตัวอย่างของผู้รักษากฎหมาย ผู้รักษากฎหมายก็ต้องไม่ทำผิดกฎหมาย และไม่ได้รวมถึงตัวเองคนเดียว รวมถึงเพื่อนร่วมงาน ครอบครัวด้วย

ท้ายนี้ ขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ทุกคนตั้งใจทำงาน แล้วก็อยากให้รู้ว่าถ้าเขาทำดีก็จะมีคนยกย่องเขา แต่ถ้าเขาทำไม่ดีแม้แต่เรื่องเล็กน้อยก็ไม่รอดสายตาคน โดยเฉพาะในยุคที่การสื่อสารรวดเร็ว และผลเสียหายก็จะเกิดกับตัวเอง ไม่มีใครจะไปช่วยอะไรได้ ไม่อยากให้เกิดเรื่องอะไรแบบนั้นเพราะจะทำให้เสียหายไปถึงภาพรวมขององค์กรด้วย อยากให้กลับมาคิดถึงเรื่องการรักษา “วินัยพื้นฐาน” ของผู้รักษากฎหมายที่ดี

มันไม่เกิดผลประโยชน์อะไรขึ้นมาเลยสำหรับใครที่เคยนอกลู่นอกทาง ให้กลับตัวกลับใจและคิดซะใหม่.