เมื่อวันที่ 2 ม.ค. นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เปิดเผยว่า ในปี 2565 คณะก้าวหน้าจะมีการรณรงค์เรื่องการกระจายอำนาจ เนื่องจากการกระจายอำนาจของรัฐบาล คสช. ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ใช่การกระจายอำนาจที่ถูกต้อง วิธีคิดของ คสช. มองการกระจายอำนาจในลักษณะที่ให้ผู้ว่าฯ ตัดสินใจเป็นหลัก มีการเลือกตั้งนายกท้องถิ่นก็จริง แต่นายกกลับไม่มีอำนาจทำอะไรเลย แต่การกระจายอำนาจแบบที่ตั้งใจทำตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ คือ การกระจายงาน เงิน คน ไปไว้ที่ท้องถิ่น เพื่อให้วันหนึ่งเราจะเดินทางไปถึงการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค คือ ไม่ต้องมีผู้ว่าฯ จังหวัด นายอำเภอ ศึกษาธิการจังหวัด เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด อะไรแบบนี้เลิกทั้งหมด

นายปิยบุตร กล่าวว่า โดยจะเป็นส่วนกลางแล้วไปท้องถิ่นเลย เหมือนที่ประเทศญี่ปุ่นและอังกฤษ ซึ่งจะมีการเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 หมวด 14 เรื่องการปกครองท้องถิ่น ที่เขียนเรื่องการกระจายอำนาจแบบถอยหลังเข้าคลอง เราต้องการเอาหมวด 9 ของรัฐธรรมนูญปี 40 เรื่องการปกครองท้องถิ่น ที่เขียนไว้ดีพอสมควรกลับมาใหม่ เรียกว่ารัฐธรรมนูญ 40 พลัส โดยพลัสเข้าไปอีก 2 เรื่อง คือ พลัสแรก ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะต้องเลิกราชการส่วนภูมิภาค และพลัสสอง ใช้หลักการอำนาจเป็นของท้องถิ่นเป็นหลัก เว้นแต่กฎหมายกำหนดเป็นอย่างอื่น หรือท้องถิ่นไม่มีศักยภาพทำ ส่วนกลางจึงค่อยเข้ามาช่วย

นายปิยบุตร กล่าวว่า หากเราทำสำเร็จ ประเทศไทยจะกลับหัวกลับหางเลย ศักยภาพของท้องถิ่นจะขึ้นมาหมด และจะเขย่าโครงสร้างของรัฐไทย เพราะที่ผ่านมาเอาผู้ว่าฯ ไปนั่งคร่อม อบจ. เอาศึกษาธิการจังหวัดไปนั่งคร่อมโรงเรียนของอบจ. ตนจะเอาที่ครอบนี้ออก นี่คือการรวมพลังของผู้บริหารท้องถิ่น 7,000 กว่าแห่ง คุณอาจไม่ชอบพวกตนก็ได้ แต่เรื่องนี้เป็นประโยชน์ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ และนี่คือการขายความคิดเรื่องการกระจายอำนาจแบบใหม่ ที่แข่งกับการกระจายอำนาจแบบ คสช. ซึ่งล้าสมัยมาก

“หากรอบนี้เข้าชื่อได้เป็นแสนรายชื่อและนำไปยื่นต่อสภาฯ ผมและนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า จะเข้าไปในฐานะผู้ชี้แจง ผมก็อยากรู้ว่า ส.ว.จะว่าอย่างไร เพราะ ส.ว.หลายคนเป็นผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญสนับสนุนเรื่องการกระจายอำนาจทั้งนั้น หรือในท้ายที่สุดพอเห็นหน้าพวกผมสองคนก็ไม่เอาอีก เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับวุฒิสภา องค์กรอิสระ และสถาบันฯ แล้ว” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จะเปิดให้เข้าชื่อในวันที่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. คาดว่าจะได้บรรจุเข้าวาระการประชุมสภาฯ ในช่วงเดือน พ.ย. ส่วนสาเหตุที่เลือกวันที่ 1 เม.ย. เนื่องจากเป็นวันทางสัญลักษณ์ ครบรอบ 130 ปี การปฏิรูปราชการ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นต้นแบบการเกิดขึ้นของกระทรวงมหาดไทยและต้นแบบการสร้างผู้ว่าฯ จังหวัด พูดง่ายๆ คือ เราจะปฏิรูประบบราชการอีกรอบ แต่ในทิศทางตรงกันข้าม.