เมื่อวันที่ 5 ม.ค. นายสิทธา มูลหงษ์ ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะโฆษก พศ. กล่าวว่า ตามที่กระทรวงการคลัง ได้ส่งร่างประกาศคณะกรรมการบริหารงานบุคคลการศึกษาพระปริยัติธรรมว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของเจ้าหน้าที่การศึกษาพระปริยัติธรรม (จศป.) พ.ศ…. กลับมายังพศ. และสอบถามกลับมาในหลายประเด็นนั้น ทางกองพุทธศาสนศึกษา ได้ทำรายละเอียดชี้แจงกลับไปที่กระทรวงการคลังครบทุกประเด็นแล้ว ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะได้รับการจัดสรรงบฯมาเมื่อใด บอกได้เพียงว่ามีสัญญาณที่ดีที่พศ.จะได้รับการจัดสรรงบฯดังกล่าว และทางกองพุทธศาสนศึกษายังได้ตรวจสอบจำนวน จศป.อีกครั้ง เพื่อความเรียบร้อย เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนงบฯที่ขอไปด้วย โดยเมื่อกระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วยังไม่มีข้อทักท้วงเพิ่มเติมแต่อย่างใด

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ประมาณเดือน ก.ย. 2564 กระทรวงการคลัง ได้ส่งหนังสือกลับมายัง พศ. ระบุว่า ร่างประกาศคณะกรรมการบริหารงานบุคคลการศึกษาพระปริยัติธรรมว่าด้วยเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของเจ้าหน้าที่การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ… มีเรื่องพิจารณาในรายละเอียดอีกหลายประเด็น ได้แก่ 1.ประเด็นเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการจัดสรรงบฯตาม พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 7 วรรคสอง ที่กำหนดให้รัฐอุดหนุนงบฯสำหรับการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมตามความเหมาะสมและจำเป็น ซึ่งคำว่า เหมาะสมและจำเป็น ในที่นี้จะหมายความรวมถึงการอุดหนุนงบฯไปตั้งจ่ายเป็นเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง หรือเงินวิทยฐานะ ในลักษณะเดียวกับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง หรือเงินวิทยฐานะของข้าราชการพลเรือน หรือไม่ 2.ประเด็นเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างการบริหารงานบุคคลการศึกษาพระปริยัติธรรม ที่กำหนดให้ตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง หรือเงินวิทยฐานะ มีจำนวนทั้งสิ้น 35 ตำแหน่ง โดยเป็นตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานสอนพระปริยัติธรรม 2 ตำแหน่ง เมื่อเปรียบเทียบกับตำแหน่งผู้สนับสนุนการศึกษา ซึ่งมี 33  ตำแหน่ง แสดงให้เห็นว่า ตำแหน่งผู้สนับสนุนการศึกษามีสัดส่วนที่สูงกว่าตำแหน่งผู้สอนเป็นอย่างมาก 3.ประเด็นการกำหนดอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งที่ยังไม่ปรากฎความชัดเจนว่า อัตราดังกล่าวกำหนดขึ้นโดยอ้างอิงจากหลักเกณฑ์ใด และเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งตามร่างประกาศฯ มีความซ้ำช้อนกับเงินนิตยภัต ตามระเบียบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่าด้วยการเบิกจ่ายนิตยภัต พ.ศ.2553 หรือไม่