เมื่อวันที่ 7 ม.ค. รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Harirak Sutabutr ว่า

การเมืองปี 2565 ยังไม่มีอะไรแน่นอน มีตัวแปรหลายตัวที่จะทำให้ political scenario หรือสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนไป

ตัวแปรแรก คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสามารถเป็นายกรัฐมนตรีต่อไปจนครบวาระหรือไม่ เนื่องจากมาตรา 258 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดให้บุคคลสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นระยะเวลารวมกันได้ไม่เกิน 8 ปี คำถามจึงอยู่ที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ในปี 2560 ดังนั้นจะนับรวมเวลาที่พลเอกประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้หรือไม่ ฝ่ายที่เชียร์พลเอกประยุทธ์เชื่อว่าไม่รวม แต่ฝ่ายตรงข้ามบอกว่ารวม ดังนั้นต้องรอให้ศาลรัฐธรรนูญวินิจฉัยเมื่อใกล้ๆกำหนดเวลา นั่นคือประมาณเดือนพฤษภาคม 2565
ตัวแปรที่ 2 คือ ความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐจะมีผลทำให้ถึงกับพรรคแตกหรือไม่ หรือทำให้พลเอกประยุทธ์ กับ พลเอกประวิตร ต้องแยกทางกันเดินหรือไม่ แม้จะยืนยันว่าความตายเท่านั้นที่จะทำให้แยกจากกันก็ตาม
ตัวแปรที่ 3 คือ การเปลี่ยนแปลงของพรรคเพื่อไทยจะมีมากน้อยเพียงใด หัวหน้าพรรคยังจะเป็นคนเดิมหรือไม่ บทบาทของทายาทคุณทักษิณในพรรคจะเพิ่มมากขึ้นอย่างไรหรือไม่ และจะมีการประกาศตัว candidate นายกรัฐมนตรีของพรรคหรือไม่ ถ้ามี มีชื่อใครเป็น candidate บ้าง และในที่สุดพรรคเพื่อไทยจะถูกยุบหรือไม่
ตัวแปรที่ 4 พรรคก้าวไกลจะถูกยุบหรือไม่ จากการให้การสนับสนุนผู้ที่มีเจตนาล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ตัวแปรที่ 5 ขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ จะอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ หรือจะกลับฟื้นคืนชีพกลับมามีพลังอีกครั้ง
ตัวแปรที่ 6 ประธานคณะก้าวหน้าจะถูกตัดสินจำคุกในคดีใดคดีหนึ่งหรือไม่ ทั้งคดีที่สมัครลงเลือกตั้งโดยที่รู้ว่าตัวเองถือหุ้นบริษัทวีลัคมีเดียอยู่ และคดีวัคซีนพระราชทาน ตามมาตรา 112
ตัวแปรที่ 7 พรรคที่ตั้งใหม่และกำลังจะตั้งใหม่ เช่น พรรคไทยภักดี พรรคกล้า พรรคของ 4 กุมาร และอาจมีพรรคอื่นๆอีก จะทำให้ประชาชนมีความหวังที่จะได้พรรคการเมืองยุคใหม่ที่ปราศจากนักการเมืองน้ำเน่าได้อย่างแท้จริงหรือไม่

ทุกตัวแปรล้วนมีผลต่อสถานการณ์การเมืองไทยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีเกินกว่า 8 ปี จะต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีกันใหม่ พรรคพลังประชารัฐจะเสนอชื่อใคร หรือจะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ โดยให้พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ ทุกอย่างล้วนเป็นไปได้ หรือหากศาลรัฐธรรมนูญให้พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ แต่รอยร้าวระหว่างพลเอกประยุทธ์ และ พลเอกประวิตร ไม่สามารถประสานกันได้ การเมืองก็จะเป็นอีกแบบ
หากพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยถูกยุบ และประธานคณะก้าวหน้าถูกศาลตัดสินจำคุก ก็จะมีคนสร้างความวุ่นวายด้วยการลงถนนประท้วง เหตุการณ์มีโอกาสบานปลายจนคาดไม่ได้ว่าผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร แต่จะไม่เป็นผลดีต่อประเทศแน่นอน

ดังนั้น สถานการณ์การเมืองจะเป็นอย่างไรจึงขึ้นอยู่กับตัวแปรเหล่านี้ว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ผลการเลือกตั้งซ่อมในเดือนนี้ รวมทั้งผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะเป็นตัวบ่งชี้ได้ส่วนหนึ่งว่าพรรคการเมืองใดในปัจจุบันได้รับความนิยมมากกว่ากัน อย่างน้อยก็ในจังหวัดที่มีการเลือกตั้งซ่อม และมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ไม่ว่าตัวแปรแต่ละตัวแปรจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ หวังว่าตัวแปรที่ 7 จะเปลี่ยนไปในทางที่เป็นคุณแก่บ้านเมือง กล่าวคือในบรรดาพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ และที่กำลังจะตั้งขึ้น หวังว่าจะมีสักพรรคหนึ่งหรือสองพรรค ที่ประกอบด้วยนักการเมืองเลือดใหม่ พันธุ์ใหม่ ที่มีความรู้สูง ไม่มีประวัติด่างพร้อย ไร้นักการเมืองน้ำเน่าเขี้ยวลากดิน และจะต้องแสดงเจตนาที่ชัดเจนว่า ต้องการที่จะคงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์สืบไป จะให้ดียิ่งกว่านั้น คือมีจำนวนพรรคมากพอที่จะทำให้สามารถจับขั้วใหม่ทางการเมืองได้ ประชาชนจะได้มีทางเลือกมากขึ้น

หากมีพรรคการเมืองเช่นนี้เกิดขึ้นจริง ผมจะลงคะแนนให้อย่างไม่ลังเล และหวังให้ประชาชนทุกคนทำแบบเดียวกัน เพื่อทำลายความเชื่อที่อาจเป็นความจริงที่ว่า พรรคการเมืองในประเทศไทย จะได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากน้อยแค่ไหนอยู่ที่เงินเพียงอย่างเดียว

อย่าลืมว่า อนาคตของชาติอยู่ในมือของประชาชนทุกคน