เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยชุดตรวจ ATK โดยยืนยันว่าชุดตรวจที่ผ่านการประเมินการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สามารถตรวจเจอเชื้อได้ ทั้งอัลฟา เดลตา และโอมิครอน ส่วนวิธีการตรวจ ATK สำหรับใช้โดยประชาชนทั่วไป (Home use) คือ 1.การแยงจมูกราว ๆ 2-3 เซนติเมตร 2.ปั่นข้างละ 5-6 รอบ 3.ตรวจด้วยน้ำยาที่มากับชุดตรวจนี่คือวิธีมาตรฐานที่ปฏิบัติใครที่จะทำพิสดารนอกเหนือจากนั้นคงแล้วแต่ แต่ถ้าวิธีมาตรฐานคือแยงจมูก

สำหรับประเด็นมีคนออกมาเสนอให้นำชุดตรวจ ATK ไปแยงต่อมทอมซิลก่อนแยงจมูกจะเพิ่มโอกาสในการเจอเชื้อมากกว่า นพ.ศุภกิจกล่าวว่า โดยหลักการช่องคอ กับโพรงจมูก เป็นช่องเดียวกันแต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องทำเช่นนี้กับชุดตรวจ Home use เพราะเสี่ยงเป็นอันตรายอย่างอื่นได้การเอามาแยงคอ แยงต่อมทอนซิลต้องคิดให้มาก

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ ยืนยันการระบาดในประเทศไทย ตอนนี้ สายพันธุ์หลักยังคงเป็นสายพันธุ์เดลตามากกว่าโอมิครอน แต่แนวโน้มโอมิครอนเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติไม่ต้องไปแยกว่าเป็นสายพันธุ์ไหน เพราะการป้องกัน การรักษายังเหมือนกันทุกสายพันธุ์ ไม่ใช่ว่า ถ้าติดโอมิครอนไม่รุนแรง แล้วสบายใจ

“ผมไม่อยากให้คน Panic (ตื่นตกใจ) แต่อยากให้เข้าใจมาตรการจัดการแบบใหม่ เข้าใจว่าคนที่ติดเชื้ออยากเข้ารพ. แต่หาก
เป็นเช่นนั้นคนที่ไม่มีอาการหรือไม่จำเป็นจะไปแย่งเตียงคนที่มีอาการ จำเป็นต้องรักษาในรพ. ดังนั้นวันนี้คนไม่มีอาการให้รักษาที่บ้านหรือชุมชน (HI/CI) แต่ต้องมีคนติดตามอาการต่อเนื่อง หากมีอาการเหนื่อยหอบ ไข้ขึ้นสูง ต้องหาหมอ” นพ.ศุภกิจ กล่าว.