เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 8/2564 (วาระพิเศษ) เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นประธาน โดยนายอนุทิน กล่าวว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่มีจำนวนมากในขณะนี้ จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบเพิ่มชุดตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วย Antigen Test Kit (ATK) ในวงเงินเบื้องต้น 1,014 ล้านบาท เพื่อจัดหาชุดตรวจให้หน่วยบริการนำไปแจกจ่ายกับประชาชนทุกคนทุกสิทธิ  รวมถึงคนต่างด้าวสามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย ATK เอง ในช่วงระหว่างเดือน ส.ค. – ก.ย. 2564 และย้ำว่าต้องทำด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่างบฯ จัดหาชุดตรวจ ATK จะเป็นการใช้จ่ายจากงบฯ พ.ร.ก.กู้เงินฯ โดยให้เครือข่าย รพ.ราชวิถี จัดหาชุดตรวจผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) วงเงินเบื้องต้น 1,014 ล้านบาท ซึ่งการประเมินจากจำนวนผู้ติดเชื้อ และปริมาณชุดตรวจที่คาดว่าจะใช้ราว 8.5 ล้านชิ้น โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ สปสช. ใช้เงินกองทุนจากรายการและประเภทบริการอื่น หรือรายการ “รายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสม” ที่ไม่มีภาระผูกพันทดรองจ่ายค่าบริการโควิด-19 ไปก่อน ในระหว่างรองบฯ ที่จะได้รับเพิ่มเติมจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ และเห็นชอบกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทาง การจ่ายชดเชยสำหรับบุคลากรที่จัดการศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในวงเงินเหมาจ่าย 2,500 บาทต่อศพ ซึ่งรวมอุปกรณ์ป้องกันตัวและถุงเก็บศพ  

ขณะเดียวกัน บอร์ด สปสช. ยังเห็นชอบให้ “การเข้ารับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เกี่ยวกับหรือโรคโควิด 19 ในสถานบริการอื่น ให้ถือเป็นกรณีที่มีเหตุสมควร” ตาม (ร่าง) ประกาศสปสช. เรื่อง กำหนดกรณีที่มีเหตุสมควรและอัตราคำใช้จ่ายที่หน่วยบริการมีสิทธิได้รับ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2564 ซึ่งประชาชนจะสามารถเข้ารับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เกี่ยวกับโควิด-19 เช่น การฉีดวัคซีน บริการกักกันโรค หรืออื่นๆ ที่ไหรก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปหน่วยบริการประจำ

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มสูงมากอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระบบการดูแลและประสานงานนำส่งผู้ป่วย โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงไม่ทันต่อสถานการณ์ เฉพาะสายด่วน สปสช. 1330 มีการโทรเข้ากว่า 5,000 ครั้ง/วัน แม้จะเพิ่มจำนวนคู่สายและจำนวนเจ้าหน้าที่ให้บริการ แต่ผู้ป่วยที่โทรเข้ามายังต้องรอสายสายนานมาก ดังนั้น ดังนั้น สปสช.จึงได้เพิ่มช่องทางออนไลน์ ให้ผู้ป่วยที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน สามารถกรอกข้อมูลลงทะเบียนด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์สปสช. https://crmsup.nhso.go.th เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแล ซึ่งจะได้รับการประเมินอาการด้วยวิดิโอคอลวันละ 2 ครั้ง อาหาร 3 มื้อ พร้อมกับได้รับปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว และยาฟ้าทะลายโจรและยาพื้นฐานอื่นๆ ในกรณีที่อาการแย่ลงจะมีการประสานส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาล โดยจะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์เพื่อประคองอาการในระหว่างประสานรอเตียงผู้ป่วย.