เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่กองปราบปราม พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.ธรากร เลิศพรเจริญ รอง ผบก.ปอท.รรท.รอง ผบก.ปคบ . พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา น.ส.รสุรางค์ ธีระวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานอาหาร ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงาน กรณีจับกุมแหล่งผลิตไส้กรอกปนเปื้อนพื้นที่ จ.ชลบุรี ตรวจยึดของกลาง 32 รายการ มูลค่ากว่า 700,000 บาท

สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ.ได้รับการประสานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรณีพบผู้บริโภคซึ่งเป็นเด็กหลายรายเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากการรับประทานไส้กรอกและเกิดภาวะ methemoglobinemia (เมธฮีโมโกลบินนีเมีย) จึงประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงใหม่ สระบุรี เพชรบุรี และตรัง สืบทราบแหล่งจำหน่ายและขยายผลทำการสืบสวนจนทราบแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จนนำมาสู่การตรวจค้นโรงงานเป้าหมายใน จ.ชลบุรี

จากการตรวจค้นพบ นางสาว ร. (ขอสงวนชื่อ-นามสกุลจริง) แสดงตนเป็นเจ้าของกิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น หมูยอ โดยรับว่าทำการผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาตแต่อย่างใด และฉลากผลิตภัณฑ์ไส้กรอกหลายรายการตรงกับฉลากผลิตภัณฑ์ที่ได้ข้อมูลจากผู้ป่วยว่า บริโภคแล้วเกิดอาการผิดปกติดังกล่าว โดยฉลากดังกล่าวไม่แสดงเลขสารบบอาหาร และเป็นการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง จากการตรวจสอบสถานที่ผลิตแห่งนี้ตามหลักเกณฑ์ GMP ที่กฎหมายกำหนด พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ (ได้คะแนนรวม 19 คะแนนคิดเป็นร้อยละ 16.67) และพบข้อบกพร่อง ได้แก่ ไม่มีการควบคุมการผลิต ในกรณีที่มีการใช้วัตถุเจือปนอาหารอย่างเหมาะสม อีกทั้งขั้นตอนการผลิตไม่เข้าข่ายโรงงานตามกฎหมาย

ทั้งนี้ได้เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อตรวจวิเคราะห์หากพบสารต้องห้ามในอาหาร จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25 ฐาน “ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นอาหารปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท จึงตรวจยึดของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ฝ่าฝืนมาตรา 6(7) ที่ผลิตอาหารไม่ป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี (GMP) โทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มาตรา 6(10) ผลิตภัณฑ์อาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง โทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท

พล.ต.ต.อนันต์ กล่าวเตือนว่า อย่าซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ทราบที่มาของแหล่งผลิต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อจากร้านค้าทั่วไป หรือแหล่งขายทางออนไลน์ เพราะอาจอันตรายจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค และขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบจำหน่ายอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นโรงานผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด และหากพี่น้องประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา

สอดรับกับทาง นพ.วิทิต ที่ระบุขอเน้นย้ำผู้ประกอบการที่เป็นตัวแทนจำหน่ายอาหาร ให้เลือกซื้อไส้กรอกหรือผลิตภัณฑ์อาหาร จากสถานที่ผลิตอาหารที่ได้รับอนุญาตมาจำหน่ายต่อเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยสังเกตที่ฉลากจะระบุชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุหรือควรบริโภคก่อน แสดงส่วนประกอบและข้อมูลวัตถุเจือปนอาหาร น้ำหนักสุทธิ เลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. และผลิตภัณฑ์มีการเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสม เพื่อคงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไว้ตลอดการจำหน่าย ส่วนผู้บริโภคเองหากไม่แนใจคุณภาพหรือความปลอดภัยของอาหาร หรือพบเห็นแหล่งผลิตหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานหรืออาจไม่ปลอดภัยในการบริโภคขอให้แจ้งเบาะแสร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย. โทร. 1556 อีเมล[email protected] หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

ต่อมาทาง นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ภาวะเมธฮีโมโกลบินนีเมีย คือภาสะที่เม็ดฮีโมโกลบินในเลือดมากผิกปกติ เพราะมีสารอื่นไปจับเม็ดเลือดแดง แทนที่ออกซิเจน ส่งผลให้ร่างกายมีภาวะขาดออกซิเจน ทำให้มีอาการเหนื่อยล้าง่าย ใจสั่น หน้ามืด วิงเวียน หากมีอาการมาก จะทำให้ปลายมือเท้าเขียวและอาจขั้นหมดสติ หรือเสียชีวิตได้ ส่วนมากที่ภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นจากสารไนไตรท์ และไนเตรต เพื่อใช้ยืดอายุของอาหาร

โดยปกติแล้วร่างกายสามารถขับสารดังกล่าวออกทางไตได้ โดยกฎหมายได้กำหนดให้ใช้สารดังกล่าวประกอบผลิตภัณฑ์อาหารได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของอาหาร ทว่าจากการตรวจค้นในครั้งนี้

นางสาว ร. ได้ว่าจ้างคนงาน และใช้การชั่งตวงวัดที่ไม่ได้มาตรฐาน จากการตรวจวิเคราะห์ พบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีปริมาณสารถึง 2,000 กว่ามิลลิกรัม

นพ.วิทิต กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังพบว่าผลิตภัณฑ์หมูยอนั้น นำไก่มาประกอบอาหาร ซึ่งต้องทำการส่งตรวจว่ามีดีเอ็นเอของไก่จริงหรือไม่ และอาจเข้าข่ายความผิดอาหารปลอมได้ จึงอยากฝากถึงผู้ค้าและประชาชน ให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และมีฉลากของ อย. ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึดได้นั้น มีเพียงฉลากยี่ห้อและภาพพรีเซ็นเตอร์ แต่มีความคล้ายคลึงกับผลิตภัณฑ์อื่นในท้องตลาด หลังจากนี้ อย.จะร่วมกับ สสจ. เพื่อตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายและประสานกับ บก.ปคบ. ในการทลายแหล่งผลิตต่อไป เพื่อให้เกิดความปลอดภัยของประชาชน