จากกรณี ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน ต.ร่อนทอง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ว่าอยากให้เป็นสื่อกลางเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้ลูกสาววัย 13 ปี เนื่องจากถูกรถยนต์โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ พุ่งชนกลางสี่แยกซอยข้างโรงพยาบาลสตึก เขตเทศบาลสตึก (ไม่มีสัญญาณไฟ) จนได้รับบาดเจ็บอาเจียนเป็นเลือด เหตุเกิดเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.64 ที่ผ่านมา ซึ่งต่อมาคนขับรถยื่นข้อเสนอจะจ่ายเป็นค่าเสียหาย เป็นค่าซ่อมรถ และค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งหมดเป็นเงิน 3,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นการประมาทร่วม ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด นางนิภาวรรณ เวโรจน์ อายุ 44 ปี แม่ของเด็กหญิงวัย 13 ปี ที่ถูกรถชนได้ให้สัมภาษณ์ในรายการโหนกระแส ว่า “เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.64 ขณะที่น้องขี่รถไปโรงเรียนและถูกรถชนจนสลบคาที่ที่กลางสี่แยกวัดใจ เนื่องจากที่เรียกแบบนี้เพราะเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง อีกทั้งยังไม่มีสัญญาณไฟจราจร ถึงแม้จะแจ้งไปทางเทศบาลแต่เรื่องก็เงียบไปทุกครั้ง

ซึ่งพอเกิดเหตุการณ์แม่ก็พาไป รพ.ทันที ตอนแรกแฟนสาวของคนขับรถฟอร์จูนเนอร์ได้มาพูดคุยกับแม่จะจัดการค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถ ค่าทำขวัญทั้งหมด ก่อนที่จะทิ้งเบอร์ไว้ เนื่องจากต้องไปทำธุระที่ต่างจังหวัด สุดท้ายน้องต้องส่งตัวต่อไปรักษาอีกโรงพยาบาล จนค่ารักษาทั้งหมด 10,800 บาท ค่าสแกนสมอง 5,000 บาท แต่กลับถูกปฏิเสธทั้งหมด เนื่องจากทางตำรวจลงความเห็นว่าเป็นการประมาท โดยคนขับยืนยันว่าตนเองไม่ผิด และไม่ยอมจ่าย พร้อมทั้งบอกว่าทำไมต้องรับผิดชอบด้วย”

นอกจากนี้ทางแม่เด็กวัย 13 ปี เล่าต่อว่า “ก่อนหน้านี้ได้มีการเข้าไปตกลงกันโดยทางคนขับจะจ่ายเพียง 2,000 บาท แต่ยังไม่พอค่ารักษาตัวลูกสาว ทางผู้ใหญ่บ้านจริงเข้ามาพูดคุยจนเพิ่มเป็น 3,000 บาท และยังอ้างว่าเพราะตำรวจบอกว่าเป็นการประมาทร่วม ซึ่งตนก็ไม่เชื่อ และไม่ขอเซ็นรับเป็นการประมาทร่วม ทางตำรวจยังไม่มาดูพื้นที่ ยังไม่เห็นสถานที่เกิดเหตุ จึงอยากมาตามหาความยุติธรรม ความถูกต้องอยู่ที่ไหน อยากให้ดูแลประชาชน ไม่ใช่มายัดเยียด ตีตราบาปให้เด็กประมาทร่วม ทั้งๆ ที่คุณยังไม่ทำ ไม่พยายามหาหลักฐานมาประกอบ

แถมยังบอกอีกว่า ที่เด็กผิดเพราะถนนฝั่งที่เด็กขี่มีเส้นสีขาวตรงจอดรอ แต่ฝั่งพอร์จูนเนอร์ไม่มีเส้นสีขาวสามารถขับไปได้เลย แต่ที่จริงแล้วถนนมีเส้นสีขาว แต่วันช่วงนั้นกำลังซ่อมถนน เขาจึงไม่มาตีเส้นใหม่ แต่ทางตำรวจตัดสินไปแบบนี้ได้อย่างไร แถมยังบอกว่าผิด”

ทางด้าน นายโสรัจจ์ แรกสกุลชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ (สำนักงาน คปถ.) ให้สัมภาษณ์ว่า “จริงๆ แล้วเรื่องกรมธรรม์การดูแลมี 2 แบบ คือ 1.กรมธรรม์ พ.ร.บ. รถเป็นการบังคับทำ เป็นการคุ้มครองผู้ขับขี่ และ 2.กรมธรรม์รถยนต์ ไม่ได้บังคับแล้วแต่เจ้าของรถ จะคุ้มครองทั้งทรัพสินต์และตัวผู้ขับ ซึ่งเบื้องต้นหากเกิดอุบัติเหตุการชนการชดใช้ผู้ประกันภัยได้ จะต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่าเป็นการประมาทของผู้ขับขี่จริงจะทำการชดใช้ค่าเสียหาย

แต่กรณีนี้เป็นการประมาทร่วมทางประกันจึงยังไม่สามารถเข้าไปจัดการได้ อีกทั้งการตัดสินคดียังไม่ออกมาแบบสิ้นสุดด้วย อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นการประมาทร่วมก็ต้องมาดูว่าฝ่ายไหนประมาทมากกว่าก็จะต้องชดใช้ในส่วนนั้นด้วย ทั้งนี้ทางน้องเองไม่มี พ.ร.บ.จึงไม่มีความคุ้มครองเพิ่มเติม แต่เบื้องต้นสามารถคำร้องเบื้องต้นสำหรับกองทุนทดแทนเพื่อขอค่ารักษาพยาบาลตามก่อนก่อนได้ ซึ่งเรื่องนี้ผมจะดำเนินเรื่องให้”

ด้าน หนุ่ม กรรชัย ได้ตั้งข้อสงสัยว่ารถฟอร์จูนเนอร์คันดังกล่าวขับกินเลนหรือไม่ เนื่องจากเมือสังเกตภาพเหตุการณ์จะเห็นภาพรถที่คร่อมเลนไปมาก ไม่ได้มาจากเลนตัวเอง นอกจากนี้ช่วงเหตุการณ์ระหว่างจัดการอยู่นั้น รถที่สวนเลนมาไม่สามารถขับไปเลนปกติได้ จำเป็นต้องเบี่ยงมาอีกเลน เนื่องจากมีรถฟอร์จูนเนอร์คันดังกล่าวจอดขวางอยู่ ซึ่งเป็นสภาพหลังจากเกิดเหตุไม่ได้เคลื่อนรถไปไหน และเรื่องการตีเส้นที่เพิ่งถนนใหม่ด้วย ซึ่งสงสัยว่าทำไมตำรวจในพื้นที่ไม่ทราบ แถมยังตัดสินแบบนั้น

ทั้งนี้ หนุ่ม กรรชัย ได้มอบเงินจำนวน 30,000 เพื่อให้แม่ไปใช้หนี้ที่หยิบยืมมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลของลูก และใช้รักษาตัวต่อไป แถมยังเป็นธุระในการหาทนายความเพื่อมาช่วยเรื่องคดีนี้ด้วย..