“ไม้โขด” เป็นคำที่ใช้เรียกแทนพืชชนิดหนึ่งที่มีส่วนรากหรือลำต้น เพื่อใช้สะสมน้ำและอาหาร อยู่ใต้ดิน โดยไม่จำเป็นต้องมีใบมาสังเคราะห์แสง ยิ่งมีอายุมาก ขนาดของลำต้นก็โตตามไปด้วย มาทำความรู้จักไม้โขดของไทย อย่าง บัวบกโขด กันนะครับ

บัวบกหัว หรือ บัวบกโขด แต่เดิมไม้โขดเป็นไม้ป่า เป็นหนึ่งในไม้โขดของไทย ไม่ใช่บัวบกที่นำมาคั้นน้ำ แก้ช้ำในนะครับ คนละชนิดกัน มักขึ้นมากแถบภูเขาแถวภาคกลางและอีสาน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Stephania erecta craib จัดอยู่ในวงศ์ Menispermaceae เป็นไม้ล้มลุกที่ขึ้นอยู่ตามป่าเขา หัวจะอยู่ใต้ดิน และโผล่ก้านใบพ้นดินขึ้นมา ด้วยหัวที่ใหญ่อยู่ใต้ดินนี้เอง เมื่อนำมาปลูกเลี้ยงจึงนิยมปลูกในกระถางโชว์หัวครึ่งหนึ่ง แต่ก็ไม่เป็นปัญหาในการเจริญเติบโต ของ ต้นบัวบกโขด

การเลี้ยงบัวบกโขดควรใช้วัสดุปลูกที่สามารถระบายน้ำได้ดี เพราะในปกติธรรมชาติ บัวบกโขด เจริญเติบโตในที่แห้งแล้ง มีน้ำน้อย อยู่แล้ว สามารถใช้ดินปลูกต้นไม้ทั่วไปในการปลูกเลี้ยงได้เลย แต่ต้องควบคุมปริมาณน้ำที่ให้ไม่ให้แฉะหรือน้ำขัง มิฉะนั้น บัวบกโขดจะเน่าได้ หรือ 2-3 วัน รดน้ำ 1 ครั้ง ควรหลีกเลี่ยงการรดไปบนหัวโดยตรง เพราะหากหัวเกิดความชื้นแฉะจะทำให้เน่าได้เช่นกัน ใช้วิธีรดน้ำที่ดินรอบๆ โคนต้น ให้น้ำซึมไปเองจะดีที่สุด

ต้นบัวบกโขด ตามธรรมชาติขึ้นในที่แสงแดดจัด หรือมีร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่มาบังบ้าง ก็สามารถเจริญเติบโตได้ ถ้านำมาปลูกเลี้ยงจัดวางในห้อง หรือ โต๊ะทำงาน อาจจะต้องวางในบริเวณที่มีแสงส่องถึงประมาณ 6 ชั่วโมง แต่หากต้องการให้ก้านใบงอกออกมาจากหัวสูงๆ ยาวๆ ให้วางในที่รำไร มันจะเลื้อยเข้าหาแสงเอง ก็สวยไปอีกแบบ แต่ใบจะมีขนาดไม่ใหญ่ และถ้าหากอยากได้ก้านใบสั้นแต่ใบมีขนาดใหญ่ ให้วางในที่โดนแดดตรงๆ เลยครับ

บัวบกโขด มีหัวอยู่ใต้ดินในธรรมชาติ เมื่อนำมาอยู่ในเมือง ปลูกเลี้ยงในอีกแบบ เลี้ยงโชว์หัวในกระถาง ก็ดูมีความเป็นศิลปะ มีค่า และ มีราคา ลองหามาเลี้ยงกันดูนะครับ.

………………………………….
คอลัมน์ “มหัศจรรย์พรรณไม้”
เขียนโดย เอกลักษณ์ ถนัดสวน