เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา ณ ห้องแถลงข่าวรัฐสภา นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยคณะ กมธ. ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับดังกล่าวว่า เป็นการประชุมนัดสุดท้ายของ กมธ. และร่าง พ.ร.บ.ตอนนี้เป็นรูปเล่ม ตนได้ลงนามเรียบร้อยแล้ว และได้นำเรียนนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุเป็นวาระประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 พร้อมจะเร่งผลักดันให้เข้าวาระการประชุม ก่อนมีการปิดสมัยประชุมสภา

จับตา ‘ร่างพ.ร.บ.ทรมาน-อุ้ม’ ประเด็นสำคัญที่ขาดหายไป

ประธาน กมธ. ระบุว่า สำหรับสาระภาพรวมของกฎหมายฉบับนี้ มุ่งป้องกันดูแลเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตาม ดูแลกฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่แค่ตรวจสอบฝ่ายมีอำนาจเท่านั้น ถ้าฝ่ายมีอำนาจปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ก็เป็นการป้องกันตัวเอง ประการต่อมา คือการมุ่งปราบปรามเจ้าหน้าที่ ที่กระทำผิดกฎหมายเสียเอง เช่น กรณีอดีตนายตำรวจผู้กำกับโรงพักจังหวัดนครสวรรค์ ซ้อมทรมานผู้ต้องหาจนเสียชีวิต และการอุ้มหายหลายกรณี หวังว่ากฎหมายฉบับนี้ จะยุติการอุ้มหายไม่ให้เกิดในประเทศไทย

ด้าน นายรังสิมันต์ โรม รองประธาน กมธ. และ ส.ส.ก้าวไกล กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะเพิ่มความผิดใหม่ 3 เรื่อง ได้แก่ ความผิดในเรื่องของการอุ้มหายบุคคล ความผิดในเรื่องของการทรมาน และความผิดในเรื่องของการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยความผิดการอุ้มหายบุคคล หรือความผิดการซ้อมทรมาน อัตราโทษจำคุกจะอยู่ระหว่าง 5-15 ปี และความผิดจากการทรมานจนถึงแก่ความตาย อัตราโทษจะสูงถึงจำคุกตลอดชีวิต ส่วนความผิดการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อัตราโทษคือจำคุกไม่เกิน 3 ปี

“ผมเชื่อว่าในคณะกรรมาธิการทั้งหมดยืนยันว่านี่คือกฎหมายที่มีความสำคัญจริง ๆ ต่อระบบกฎหมายไทย เป็นหลักประกันให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ต้องการกระทำความดี และเป็นหลักประกันให้กับบุคคลที่ถูกกระทำ เป็นเหยื่อการอุ้มหายซ้อมทรมาน และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผมคิดว่านี่เป็นนิมิตหมายที่ดีของกฎหมายไทย” รังสิมันต์ โรม กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 65 คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีการประชุมร่วมกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ มีความสำคัญและเร่งด่วน และรับฟังข้อห่วงกังวลของกรรมมาธิการฯ ที่เป็นตัวแทนจากหลายภาคส่วน และเข้าใจดีที่มีข้อกังวล เช่น เรื่องการสรรหากรรมการ อย่าให้ยุ่งยากเกินไป, เรื่องอายุความ ให้กำหนดให้เหมาะสม เป็นต้น สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ถูกสังคมจับตามานาน หลังมีการต่อสู้ผลักดันมานานกว่า 10 ปี กระทั่ง กมธ. ปิดเล่มได้สำเร็จ ก็ต้องตามลุ้นต่อเมื่อเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร.