เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 28 ก.พ. ที่มิวเซียมสยาม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย น.ส.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ และทีมงาน “เพื่อนชัชชาติ” ร่วมแถลงนโยบายในการลงสมัครรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ภายใต้ชื่องาน “ชัชชาติ อาสา ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ 200 นโยบาย กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”  

โดยนโยบาย กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนของ นายชัชชาติ และทีมงาน ได้แบ่งเป็น 9 มิติ ได้แก่ 

1.ปลอดภัยดี สร้างแผนที่จุดเสี่ยงด้านอาชญากรรม จราจร และสาธารณภัย รู้ก่อน ป้องกันได้ ไหวตัวทัน, จัดตั้งศูนย์สั่งการ เพื่อความชัดเจน คล่องตัว ในการรับมือกับสาธารณภัย, พนักงาน กทม. เป็นหูเป็นตา ช่วยแจ้งถนนพัง ไฟดับทางเท้าทรุด ฯลฯ ทุกโครงสร้างพื้นฐานใน กทม. พร้อมใช้ มีเจ้าหน้าที่ประจำดูแล, พัฒนาที่พักชั่วคราว ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ ที่คนไร้บ้านเข้าถึงได้ 

2.เดินทางดี ใช้ระบบจัดการจราจรอัจฉริยะ (ITMS) บริหารจราจรทั้งโครงข่ายเพื่อบรรเทาปัญหาจราจร,พัฒนารถสาธารณะทั้งระบบ เพื่อรถสายหลักและรอง (trunk and feeder) ราคาถูกและราคาเดียว, หารือเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับ รฟม. เพื่อลดค่าแรกเข้า ลดรายจ่ายประชาชน, พัฒนาจุดจอดจักรยานที่ปลอดภัยและมีคุณภาพในจุดเชื่อมต่อการเดินทาง, กรุงเทพฯ เดินได้ พัฒนาเดินเท้าคุณภาพ 1,000 กม.

3.สุขภาพดี เชื่อมโยงประวัติคนไข้ภายในสถานพยาบาลในกรุงเทพฯ เพื่อส่งต่อและดูแลรักษาได้ทั่วกรุงเทพฯ, เพิ่มการรักษา เพิ่มเวลา เพิ่มทรัพยากรในศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.), หมอถึงบ้านผ่าน Telemedicine, ขยายโครงการโรงพยาบาล 10,000 เตียง สู่ชุมชนชนทั่วกรุงเทพฯ เสริมศักยภาพ อสส. สู่ caregiver คุณภาพ, เพิ่มพื้นที่ออกกำลังกาย พัฒนาลานกีฬาต้นแบบ 180 แขวง 180 ลาน ภายใน 100 วันแรก 

4.สร้างสรรค์ดี เปลี่ยนศาลาว่าการ กทม. เดิม เป็นพิพิธภัณฑ์เมืองและพื้นที่สาธารณะ, สร้าง open art map and calendar ให้ประชาชนปักหมุดกิจกรรมหรือตามเสพงานศิลป์ได้ทั่วกรุง, ปักหมุดทำฐานข้อมูลรวมพื้นที่ของรัฐและเอกชนให้ประชาชนเลือกใช้จัดกิจกรรม, เปิดพื้นที่ กทม. ให้แสดงสตรีทโชว์, ห้องสมุด กทม. สู่ห้องสมุดดิจิทัล ยืมหนังสือออนไลน์ อ่าน e-book ได้จากทุกที่ 

5.สิ่งแวดล้อมดี เพิ่มพื้นที่สีเขียวและลานกีฬาให้เดินถึงภายใน 15 นาที, จัดหารุกขกรมืออาชีพดูแลต้นไม้ประจำเขต, ปลูกต้นไม้ล้านต้น เสริมร่มเงาเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่น, ตรวจจับรถปล่อยควันดำเชิงรุกจากต้นทางเช่น สถานีรถโดยสาร และไซต์ก่อสร้าง, ขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงตลอดอายุขัยป้องกันการสูญหาย และการปล่อยปละละเลย, แยกขยะตั้งแต่ต้นทาง มุ่งเป้าองค์กรและสร้างพื้นที่เขตต้นแบบ 

6.โครงสร้างดี วางแผนต้นแบบเมืองใหม่ (ชานเมือง) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กระจายแหล่งงาน ลดการกระจุกตัวในเขตเมือง, สร้างฐานข้อมูลที่ดินว่าง เพิ่มโอกาสพัฒนาที่อยู่อาศัยให้คนกรุงเทพฯ, ลอกท่อ ลอกคูคลอง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำประสิทธิภาพสูง ลดจุดเสี่ยงน้ำท่วม พร้อมหาพื้นที่รับน้ำธรรมชาติ, เตรียมจุดทิ้งขยะ จุดซักล้างในทุกพื้นที่การค้าแผงลอย, ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียที่แหล่งกำเนิด (onsite treatment) นำร่องชุมชนริมคลองและตลอดสดทั่วกรุงเทพฯ 

7.บริหารจัดการดี พัฒนาระบบการขออนุญาตจาก กทม. ให้ประชาชนตรวจสอบและติดตามได้, ทบทวนข้อบัญญัติกทม. และปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน, เปิดข้อมูลกรุงเทพฯ อย่างมีคุณภาพใช้งานได้จริง, จัดสรรงบประมาณบริหารกรุงเทพฯ ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน (participatory budgeting), เปิดให้ประชาชนร่วมประเมิน ผอ.เขตและผู้ว่าฯ, สร้างอาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) ประจำย่าน ช่วยคนกรุงเทพฯ ให้เข้าถึงเทคโนโลยี 

8.เรียนดี เปิดโรงเรียน กทม. เล่น หรือเรียนได้ในวันหยุด, ชีวิตคนกรุงเทพฯ ดีขึ้น ด้วยการเพิ่มสวัสดิการและลดภาระงานเอกสารด้วยเทคโนโลยี, ขยายเวลาโรงเรียนให้สอดคล้องกับเวลางานของผู้ปกครอง มีครูเฝ้า มีกิจกรรมสร้างสรรค์จากวิทยากรทั้งในและนอก, เพิ่มหลักสูตรภาษาต่างประเทศ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อการทำงานในโรงเรียนสังกัด กทม. พร้อมสำหรับทักษะที่จำเป็นในอนาคต, พัฒนาศูนย์เด็กอ่อน-เด็กเล็กใกล้ชุมชนและแหล่งงานโดยเพิ่มปริมาณ เพิ่มบุคลากร ปรับหลักสูตร และเพิ่มบริการ, เพิ่มหลักสูตรฝึกอาชีพ กทม. ให้สอดคล้องกับฝั่งธุรกิจและการค้าขายออนไลน์ 

และ 9.เศรษฐกิจดี ปั้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั่วกรุงเทพฯ 12 เทศกาลตลอดปี, ชูอัตลักษณ์ย่านทั่วกรุง กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก, ยกระดับผู้ค้าแผงลอยให้มีความยั่งยืน เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงิน ให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี และจัดหาสถานที่ค้าขาย, สร้างแบรนด์ Made in Bangkok (MIB) คัดเลือกและพัฒนาสินค้าจากผู้ผลิตในกรุงเทพฯ โปรโมตและต่อยอดผลิตภัณฑ์ ไปสู่ตลาด e-Commerce ขนาดใหญ่, พัฒนาเศรษฐกิจกลุ่มธุรกิจ Hi Tech เช่น eSports, e-Commerce และ Hi Touch เช่น นวด สปา กิจกรรมฝึกจิตใจ.