เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 โดยระบุว่า การต่อสู้ที่สำคัญ คือ Fake news, ข่าวร้าย (shock news, breaking news) และการให้ร้าย รังแก bully

บทเรียนสำคัญในการต่อสู้กับโรคระบาดร้ายแรงใน 2 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง fake news, ข่าวร้าย shock news ข้อมูลที่สร้างความสับสน

โดยเฉพาะ ข้อมูลมีความจริงเพียง 20% แล้วใส่ความเห็น โน้มน้าว ไม่ได้อยู่บนฐานของความเป็นจริง

มีข่าวที่ไม่เป็นจริง และมีการส่งต่ออันมากมายบนสื่อสังคมในยุคปัจจุบันที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อความจริงปรากฏ ก็ไม่มีใครตามไปแก้ข่าว

ข้อมูลดังกล่าว ถ้าได้รับฟังซ้ำ ๆ เชื่อเลย หลายคนคงจะเชื่อ เรื่องของโรคโควิด วัคซีนในการใช้ป้องกัน ทำให้เราเสียโอกาสไปมาก

การให้ข่าวร้าย ที่เรียกว่า shock news ทั้งที่อาจจะมีความจริงเพียง 10 ถึง 20 % หรือการทำวิจัยเบื้องต้นมาก จะทำให้เกิดอาการหวาดกลัวเกิดขึ้น และมีผลต่อจิตใจอย่างมาก (traumatic stress) เป็นอันตรายมากต่อ ร่างกาย สังคม และเศรษฐกิจ

การให้ร้าย รังแก (bully) บนสื่อสังคม จะมีให้เห็นทุกวันในสื่อสังคม

ในการทำงาน จะต้องมีความหนักแน่น ยึดมั่นในความซื่อสัตย์ อดทน และในที่สุดความจริงก็ปรากฏ แต่ในบางครั้งก็อดเสียดาย เสียโอกาส ในการแก้ไขต่อสู้กับโรคร้ายได้ทันท่วงที

สิ่งที่สำคัญ จะต้องมีการเรียนการสอนตั้งแต่วัยเด็ก ในการเรียนรู้ สร้างความเข้าใจ ไม่ให้เชื่อในสิ่งที่ไม่ได้มีการพิสูจน์ หลักการเหตุผล พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ สิ่งไหนจริงสิ่งไหนปลอม ต้องแยกวิเคราะห์ให้ได้

การส่งต่อข้อความข้อมูล จะต้องมั่นใจว่า มีแหล่งที่มาอย่างถูกต้อง ข้อมูลนั้นจะต้องถูกต้องและเชื่อถือได้

ในกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ได้ผ่านบทเรียนเป็นจำนวนมาก ที่สอนให้เรามีใจหนักแน่น อดทน มุ่งมั่นหาความรู้ สร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อต่อสู้กับโรคภัยที่อุบัติใหม่ ไม่ให้เชื่ออะไรง่าย ๆ ที่ส่งกันมาบนสื่อสังคม