โครงการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถอีวี เป็นอีกส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ภาครัฐได้เดินหน้าส่งเสริมอย่างเป็นทางการ และได้ทำทุกวิถีทาง!! เพื่อให้รถอีวี “เกิด” ให้ได้ในประเทศไทย ล่าสุด…ได้ออกมาตรการส่งเสริมเพื่อให้ค่ายรถยนต์ และผู้บริโภคสามารถเข้าถึง และเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายดายยิ่งขึ้น 

จัดแพ็กเกจเสริมเร่งแจ้งเกิด

มาตรการที่อนุมัติ มีทั้งเงินอุดหนุนรถยนต์และรถกระบะคันละ 70,000-150,000 บาทต่อคัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% และรถกระบะเป็น 0%, ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน (ซีบียู) สูงสุด 40% ทำให้การนำเข้าจากญี่ปุ่น 20% เหลือ 0% เกาหลีจาก 40 เหลือ 0% จีน 0% อยู่แล้ว ขณะที่มาจากยุโรป-สหรัฐ จาก 80% เหลือ 40% เพราะยังไม่มีข้อตกลงการค้า และมีการยกเว้นอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศ (ซีเคดี) จำนวน 9 รายการ

ทั้งนี้ค่ายรถที่เข้าร่วมต้องรับเงื่อนไข ได้แก่ ผลิตชดเชยให้เท่ากับจำนวนที่นำเข้าซีบียู ช่วงปี 65-66 ในปี 67 แต่ขยายเวลาได้ถึงปี 68 จะต้องผลิตในอัตราส่วน 1.5 เท่า คือ นำเข้า 1 คัน ผลิต 1.5 คันผู้ใช้สิทธิจะผลิตยานยนต์ไฟฟ้า รุ่นใดก็ได้เพื่อชดเชย ยกเว้นรถที่มีราคาขายปลีกราคา 2-7 ล้านบาท ต้องผลิตรุ่นเดียวกับที่นำเข้ามา เป็นต้น ขณะที่รถกระบะ ต้องผลิตในประเทศเท่านั้น จึงได้สิทธินี้รถยนต์และรถจักรยานยนต์นำเข้าได้ แต่ปีที่ 3 ต้องผลิตในประเทศตามเงื่อนไขดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้…บรรดาผู้ประกอบการภาคเอกชน สามารถทำราคาให้ลดลงได้ ค่ายรถยนต์จะจัดรายการส่งเสริมการขายเพิ่มเติมเข้ามา
อีกทั้งช่วยให้ผู้ซื้อตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เพราะราคาจูงใจและใกล้เคียงกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง และยังไม่นับรวมรถอีวีรุ่นใหม่ ๆ ที่จะยกทัพมาให้เลือกเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้  ซึ่งเป็นหลักการที่รัฐได้วางแนวทางเอาไว้

รัฐควักเงินช่วยกระตุ้น

เท่านั้นไม่พอ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี โดยจะช่วยทำมิเตอร์ไฟฟ้าแบบพิเศษ เพื่อช่วยให้สามารถชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ที่บ้านโดยรัฐบาลได้เตรียมตั้งโต๊ะในส่วนที่จะช่วยทำได้ คือ การอำนวยความสะดวกเมื่อคนไทยซื้อยานยนต์ไฟฟ้า ก็จะติดตั้งบ็อกซ์ชาร์จให้ที่บ้าน มีการขอมิเตอร์พิเศษ โดยประสานกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. กฟภ. โดยจะทำให้เบ็ดเสร็จ เรียกว่า เมื่อซื้อรถยนต์อีวีแล้ว ก็ไม่ต้องเป็นกังวล 

ขณะเดียวกัน “สุพัฒนพงษ์” ยังสำทับไว้ด้วยว่า นโยบายในการส่งเสริมรถยนต์อีวีของรัฐบาลนั้น ปัจจุบันได้มีการประกาศออกมาแล้ว ตามแผน  30/30 โดยตั้งเป้าหมายการผลิตให้ได้ 30% ของปริมาณการผลิตรถยนต์ในประเทศ ในปี 73 หรือในอีก 8 ปีข้างหน้า เพื่อให้ประเทศไทยรักษาการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ทุกประเภท ซึ่ง

ถ้าไม่เร่งทำตอนนี้อาจต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นรากฐานทางเศรษฐกิจของไทยไปแน่นอน ล่าสุด…นโยบายด้านยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลที่ประกาศออกไป จะมีทั้งการส่งเสริม และอุดหนุนเพื่อให้เกิดการลงทุนในการประกอบรถยนต์อีวี 100% ในไทย เบื้องต้นได้รับเสียงตอบรับดี โดยรัฐบาลเชื่อมั่นว่า ในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ จะมีการผลิต และประกอบรถยนต์อีวีขึ้นในไทยแน่นอน 

จรดปากกาเซ็นเอ็มโอยู

ขณะเดียวกันเพื่อสร้างความมั่นใจในมาตรการส่งเสริมรถอีวีรัฐได้เกี่ยวก้อยค่ายรถ ทั้งเอ็มจีและเกรทวอลล์ มอเตอร์ มาเซ็นสัญญาร่วมกันว่ารถยนต์ไฟฟ้า จะสามารถเกิดและเติบโตได้ ด้วยแรงส่งของภาครัฐ และเอกชนที่ร่วมมือกัน และเร็ว ๆ นี้ได้โอกาส ผสมกับ
มีจังหวะที่ดีที่จะสร้างฝันให้เป็นจริงได้ ในงานมอเตอร์โชว์ 2022 เพราะภายในงานจะมีรถยนต์ไฟฟ้าของทั้ง 2 ค่ายที่มีสัญญากับรัฐ นำรถมาให้จับจอง และได้รับราคาที่มีส่วนลด จากการที่รัฐให้การสนับสนุน เกือบ ๆ สองแสนบาทกันทีเดียว สำหรับรถอีวีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ตรงนี้ถือว่าช่วยให้การตัดสินใจซื้อทำได้ง่ายมากขึ้น!! 

ภาคเอกชน “พงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า ในปีนี้จะส่งรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอีก 3 รุ่น รุ่นแรก เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานมอเตอร์โชว์ และตามมาด้วยเอ็มจี อีพี ไมเนอร์
เชนจ์ และรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยนำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอีก 1 รุ่น โดยปีที่ผ่านมาเอ็มจี ส่งมอบรถอีวีไม่น้อยกว่า 1,000 คัน ในฐานะที่เป็นค่ายรถยนต์รายแรก ๆ ที่มุ่งทำตลาดรถอีวีอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ซึ่งการร่วมมือกับภาครัฐ ถือว่าเป็นการแสดงความจริงใจ ที่จะมุ่งมั่นเดินหน้าส่งเสริมรถอีวีในประเทศไทยต่อไป 

ด้านผู้จัดงานมอเตอร์โชว์ “ปราจิน เอี่ยมลำเนา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และประธานจัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 ระบุว่า งานมอเตอร์โชว์ปีนี้จะเป็นเวทีเดือดสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และเป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกที่รัฐบาลอนุมัติเงินอุดหนุนแพ็กเกจอีวี จำนวน 1.5 แสนบาทต่อคัน ภายในงานจะมีรถอีวี เข้ามาร่วมงานไม่น้อยกว่า 20 รุ่น

เชื่อราคาจับต้องได้แน่

ไม่เพียงเท่านี้ “ปราจิน” ยังมองว่า การที่รัฐให้เอกชนมาลงนามสัญญาร่วมกันก็เพื่อต้องการให้เงินที่อุดหนุนนั้น ลงไปถึงผู้บริโภคอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถือเป็นผลดีต่อค่ายรถที่สามารถขายได้ง่ายขึ้น แต่สิ่งที่เกิดในอนาคต เงื่อนไขที่ต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยตรงนี้ยังมีข้อกังวล ว่าในอนาคตจะสามารถทำยอดขายได้กี่คัน การผลิตจำนวนเท่าใด จึงคุ้มค่าทางธุรกิจ ในอนาคตอีก 2-3 ปี อาจมีคำตอบหรือเงื่อนไขมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดก็เป็นได้ ซึ่งต้องให้สามารถนับรวมได้ ทั้งการผลิตเพื่อขายในประเทศและการผลิตเพื่อการส่งออก

ในมุมนี้!! การที่ค่ายรถยนต์ขนาดเล็กหรือขนาดกลางที่นำเข้ารถอีวีมาจำหน่าย และยังไม่มีแผนผลิต หรือประกอบในไทย และยังไม่ได้ลงนามมีสัญาใจเบื้องต้นต่างก็มองว่าการขายอีวีในตลาดยิ่งยากขึ้นไปอีก เพราะที่สำคัญราคารถไม่เกิน 2 ล้านบาทก็ไม่สามารถแข่งขันกับ 2 เจ้าใหญ่จากแดนมังกรได้แล้ว ขณะเดียวกันจะไม่สามารถนำรถอีวีไปขาย และจัดโปรโมชั่นขายรถตามมาตรการรัฐได้ นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องศึกษาอีกมาก ทั้ง “เงินแบงก์การันตี” ที่ต้องวางมัดจำไว้กับรัฐ ซึ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคาร แทนที่จะนำเงินนั้นไปลงทุน หรือทำการตลาดให้เกิดประโยชน์ ดังนั้นหากไม่ใช่ค่ายใหญ่สายป่านยาว ก็ยอมรับว่าลำบาก พอสมควร 

ยอดขายไม่เกินหมื่นคัน

การที่รัฐเร่งคลอดรถอีวีตามเทรนด์โลก ด้วยการใช้กลไกของราคามากระตุ้น ก็เชื่อได้ว่าสามารถ “เกิดด่วน” ได้สมใจรัฐบาลแน่ โดยตัวเลขของยอดขายรถอีวีปีที่แล้ว อยู่ที่ประมาณ 2,000 คัน แต่!! ปี 65 นี้ มีมาตรการส่งเสริมอาจกระโดดจากยอดเดิมที่คาดไว้ที่ 4,000 คัน เป็น 8,000 คัน และเชื่อว่าจะไม่มากไปกว่านี้แน่…หรือที่มองว่าเป็นหลักหมื่นคันขึ้นไป ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากสินค้าในสต๊อกมีไม่เพียงพออยู่แล้ว ด้วยปัญหาใหญ่ระดับโลกที่ทุกอุตสาหกรรมเผชิญ คือ ขาดแคลนเซมิคอนดัคเตอร์ หรือบรรดาอุปกรณ์ชิพ อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ที่ต้องใช้ในการผลิต ซึ่งรถอีวีก็ได้รับผลด้วยเช่นกัน

อีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้ คือ การขยายพื้นที่ติดตั้ง อุปกรณ์หัวชาร์จไฟฟ้าของภาครัฐจะเป็นอย่างไร? เพื่อให้ผู้ขับขี่รถไฟฟ้าอุ่นใจ ไปที่ไหนก็มีที่เติม ไม่ใช่ออกมาตรการกระตุ้นการขาย ยอดรถ อีวีพุ่ง แต่จุดชาร์จมีรองรับไม่เพียงพอ โดยที่ผ่านมาค่ายรถยนต์ที่มีรถอีวีจำหน่ายได้พยายามที่จะติดตั้งให้ครอบคลุมเพื่อบริการลูกค้าของตน ก็ไม่ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยราคาค่าไฟต่อหน่วยในการชาร์จอยู่ที่หน่วยละ 6.50-7.50 บาท ซึ่งในแถบยุโรปพฤติกรรมการชาร์จรถอีวี ชาร์จที่บ้าน 80% ชาร์จที่ทำงาน 15% และชาร์จที่สาธารณะ 5% เท่านั้น

สำหรับแพ็กเกจอีวีของรัฐบาล เห็นได้ชัดว่ารถราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ได้รับประโยชน์แน่ แต่ถ้าเกิน 2 ล้านบาทขึ้นไปก็มีความ
แตกต่าง ซึ่งเห็นได้ว่าค่ายรถยุโรป แทบไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรืออยากมีส่วนร่วมกับโครงการนี้ อีกทั้งลูกค้าของรถกลุ่มนี้ไม่ได้สนใจ เพราะตราบใดที่ผลิตภัณฑ์ถูกใจ มีเงินเพียงพอ ก็ยังเลือกซื้อรถที่ต้องการใช้ได้ เป็นคันที่ 2 คันที่ 3 หรือคันที่ 4 

ในอนาคต!! ก็ต้องจับตาดูกันว่าราคารถอีวี ที่ใกล้เคียงกับรถสันดาป หรือรถที่ใช้นำมันในปัจจุบัน จะได้รับผลกระทบหรือไม่? ซึ่งทุกมาตรการของรัฐที่ออกมา…ก็เพื่อให้ไทยยังสามารถรั้งตำแหน่งการเป็นฮับของอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือดีทรอยต์แห่งเอเชียได้ต่อไป.