วันนี้ ‘เดลินิวส์ออนไลน์’ พาไปทำความรู้จัก 5 แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ที่ได้คะแนนนิยมสูงสุด 5 อันดับ จากผลสำรวจของสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ทำการสำรวจครั้งที่ 3 สอบถามกลุ่มตัวอย่าง 2,041 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-2 เม.ย.

ผลการสำรวจรอบ 3 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับความนิยม ร้อยละ 25.7, นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ ร้อยละ 18.3, นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ร้อยละ 11.8, พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ร้อยละ 11.3 และนาย สกลธี ภัททิยกุล ร้อยละ 6.7

1.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครในนามอิสระ เบอร์ 8 ไม่สังกัดพรรคการเมือง เกิดวันที่ 24 พ.ค. 2509 อดีต รมว.คมนาคม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เจ้าของฉายา บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ใช้ยุทธศาสตร์หาเสียง “กรุงเทพฯ 9 ดี” ประกอบด้วย ปลอดภัยดี สุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี บริหารจัดการดี เรียนดี โครงสร้างดี เศรษฐกิจดี เดินทางดี โดยมี 200 นโยบายที่กระจายอยู่ในทั้ง 9 ดี

2.นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ “ดร.เอ้” ผู้สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 4 เกิดวันที่ 20 เม.ย.2515 อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ยุทธศาสตร์หาเสียง “เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้” ขับเคลื่อนผ่าน 5 นโยบาย เช่น แก้ปัญหาพื้นฐาน กทม. ฝนตก-น้ำท่วม, พัฒนาการศึกษา, พัฒนาระบบสาธารณสุข, พัฒนาคุณภาพอากาศ, ออกแบบป้องกันกรุงเทพฯ จมน้ำจากโลกร้อน

3.นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ผู้สมัครในนามพรรคก้าวไกล เบอร์ 1 เกิดวันที่ 11 ธ.ค.2520 ก่อนกระโดดเข้าสนามการเมือง เคยเป็นวิศวกร ยุทธ์ศาสตร์หาเสียง มีทั้งหมด 12 นโยบาย เพื่อสร้าง “เมืองที่คนเท่ากัน” เช่น เพิ่มสิทธิรักษาพยาบาล, เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุให้เป็น 1,000 บาท/เดือน, ค่าเลี้ยงดูบุตร (0-6 ขวบ) 1,200 บาท, เพิ่มเบี้ยคนพิการ ให้เป็น 1,200 บาท/เดือน

4.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. จากการแต่งตั้ง ด้วยมาตรา 44 เบอร์ 6 เกิดวันที่ 15 ก.พ.2494 ใช้ยุทธศาสตร์หาเสียง ขอเดินหน้าทำงานต่อผ่านนโยบาย 8 ด้าน เช่น แก้นํ้าท่วม, พัฒนาการเดินทาง, สุขภาพ, สิ่งแวดล้อม, การศึกษา, ความปลอดภัย, เชื่อมกรุงเทพฯ สู่ดิจิทัล, ดูแลคนทุกกลุ่ม เป็นต้น

5.นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครในนามอิสระ เบอร์ 3 เกิดวันที่ 14 ต.ค.2520 เป็นบุตรชายคนโตของ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ชูสโลแกนหาเสียง “กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ได้” มุ่งเน้นพัฒนา 6 ด้าน เช่น พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ, พัฒนาสาธารณสุข, พัฒนาการศึกษา, พัฒนาสิ่งแวดล้อม, บริหารโปร่งใส, พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และท่องเที่ยว กทม.เป็นต้น