จากกรณีสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำกัด พบความผิดปกติในยอดเงินบัญชีออมทรัพย์เมื่อตรวจสอบพบว่ามีเงินหายไป ซึ่งมาจากเจ้าหน้าที่สองรายทำการยักยอกเงินไป เบื้องต้นพบว่ามีความเสียหายกว่า 212 ล้านบาท ขณะที่ทางสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำกัด ส่งตัวแทนเข้ามาแจ้งความกับทางพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ให้ดำเนินคดีผู้กระทำความผิดสองราย ซึ่งเป็นผู้จัดการสหกรณ์ กับเจ้าหน้าที่ที่สหกรณ์ที่ทำหน้าที่รับฝากถอนเงิน ตามที่เสนอข่าวไปนั้น

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า หลังเกิดเหตุทางพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำผู้เสียหายเพื่อตั้งเรื่องคดีในการที่ขอศาลออกหมายจับ และนำมาสู่การออกหมายจับผู้กระทำความผิดสองราย คือ นางพวงทิพย์ สุทธิแย้ม ผู้จัดการสหกรณ์ ตามหมายจับศาลอาญาเลขที่ 667/2565 ลงวันที่ 5 เม.ย. นางศิริพร รัตนปราการ หัวหน้าฝ่ายการเงิน ตามหมายจับของศาลอาญาเลขที่ 666/2565 ลงวันที่ 5 เม.ย. ในฐานความผิด ร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง

ทั้งนี้ทาง พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผบช.น. ได้เน้นย้ำสั่งการให้ทางพนักงานสอบสวนเร่งสอบปากคำผู้เสียหาย เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความ รวดเร็วโปร่งใส และยุติธรรม ซึ่งขณะนี้พบเพียงความผิดเพียง 1 ข้อหา คือร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง เนื่องจากทั้งสองไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่ทำงานในสหกรณ์ และหากรายละเอียดในการสอบสวนพบความผิดใดให้แจ้งข้อหาเพื่มเติม ในส่วนของการติดตามตัวมาดำเนินคดี ได้วางแนวทางให้ฝ่ายสืบสวนเร่งติดตามตัวแล้ว ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ผู้ต้องหาทั้งสองได้เดินทางออกนอกประเทศหลบหนีไปที่ประเทศลาวและประเทศเวียดนาม ซึ่งจากการตรวจสอบฐานข้อมูลในระบบการเดินทางเข้าออกประเทศของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ยังไม่ปรากฏข้อมูลการเดินทางนอกประเทศ ทั้งนี้ได้ประสานข้อมูลนำหมายจับลงระบบของทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแล้ว ในส่วนกรณีที่จะเสนอให้นายกรัฐมนตรี ส่งคดีนี้ไปให้กับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อรับเป็นคดีพิเศษนั้น หากมีการรับเป็นคดีพิเศษ ทางพนักงานสอบสวนก็จะส่งมอบหลักฐาน และสำนวนให้ดีเอสไอเพื่อไปดำเนินการตามขั้นตอน

มีรายงานว่าทาง พล.ต.ท.สำราญ ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.ศิรณวิชญ์ อินทร ผกก.สส.บก.น.1 จัดชุดทำงานของ กก.สส.บก.น.1 บูรณาการกำลังฝ่ายสืบสวน สน.นางเลิ้ง บก.สส.บช.น.และ บก.สายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ 191 ลงพื้นที่ติดตามตัวทั้งสองรายมาดำเนินคดีแล้ว ร่วมกันติดตามจับกุมผู้ต้องหาทั้งสองอย่างเร่งด่วนแล้ว ในส่วนของการตรวจสอบบัญชีการเงินของผู้ต้องหาทั้งสอง ได้ประสานข้อมูลกับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินว่า มีการยักย้าย ถ่ายเทเงินไปยังบุคคลใดบ้าง โดยเจ้าหน้าที่จะทำการอายัดบัญชีและดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่านางศิริพร รัตนปราการ หัวหน้าฝ่ายการเงิน มีการเปลี่ยนชื่อเป็น น.ส.พชร จันทนะรัตน์ ด้วย

ทั้งนี้มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการประสานสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน ตลอดจนเส้นทางทรัพย์สินของผู้ต้องหาทั้งสอง ขณะเดียวกันเป็นที่รู้กันในวงกว้างของคนในสหกรณ์ออมทรัพย์ของกระทรวงเกษตรฯ ว่า หนึ่งในสองผู้ต้องหา มีรีสอร์ทส่วนตัว และบ้านพักตากอากาศที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม และ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารในย่านสนามกอล์ฟเมืองเอก จ.ปทุมธานี โดยทันทีที่ปรากฏข่าวการยักยอกโกงเงินสหกรณ์ ทำให้คนในสหกรณ์ออมทรัพย์ของกระทรวงเกษตรฯ เชื่อว่าทรัพย์สินดังกล่าว ได้มาจากการโกงเงินสหกรณ์

สำหรับการตรวจสอบความเสียหาย มีรายงานว่า การตรวจพบการทุจริตเกิดขึ้นเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ระบาดผลักดันให้สหกรณ์กระทรวงเกษตรฯ นำระบบออนไลน์มาให้บริการกับสมาชิกได้ตรวจสอบข้อธุรกรรมกับสหกรณ์ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยพบว่ามีสมาชิกหลายรายแจ้งว่า ข้อมูลจำนวนเงินในบัญชีเงิน ฝากออมทรัพย์พิเศษของระบบสมาชิกออนไลน์ มีจำนวนเงินน้อยกว่าข้อมูลในสมุดบัญชีคู่ฝากที่สมาชิกมาทำธุรกรรมกับสหกรณ์เป็นจำนวนมาก เบื้องต้นพบว่ามีการปลอมลายมือชื่อสมาชิกถอนเงินและบันทึกข้อมูลในสมุดบัญชีคู่ฝากเท็จ แต่ในส่วนของรายการอื่น เช่น มูลค่าหุ้น การกู้เงิน เป็นต้น ยังไม่พบความผิดปกติ อย่างไรก็ตามส่วนหนึ่งเชื่อว่าช่องโหว่มาจากความไว้ใจของสมาชิกสหกรณ์ที่มีต่อเจ้าหน้าที่ โดยผู้เสียหายรายหนึ่งเปิดเผยกับทีมข่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ไปทำธุรกรรมที่สหกรณ์ ซึ่งตอนนั้นการฝาก-ถอน เป็นระบบเก่า คือต้องนำสมุดคู่ฝากไปติดต่อหน้าเคาน์เตอร์ และพบว่าหลายต่อหลายครั้งเมื่อทำธุรกรรมฝากเงิน ทางสองผู้ต้องหาพิมพ์ยอดเงินและดอกเบี้ยในบัญชีเงินฝากของสมาชิกด้วยพิมพ์ดีดไฟฟ้า แทนการพิมพ์จากระบบคอมพิวเตอร์ของสหกรณ์ ซึ่งเมื่อสอบถามได้คำตอบว่าเครื่องเสีย

สอดรับกับแนวทางที่พบพฤติกรรมการยักยอกเงินจากบัญชีสหกรณ์ฯ ผู้ต้องหาใช้วิธีระบบมือ เบิกถอน ปลอมลายเซ็นบัญชีผู้ฝาก โดยมีประมาณ 30 บัญชีมีการฝากไว้กับผู้จัดการ เพราะสมาชิกไว้ใจเนื่องจากผู้ต้องหาทำงานสหกรณ์มานาน โดยเอาสมุดบัญชีไปแอบถอนเงิน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ากระทำแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2548 โดยเลือกบัญชีที่ไม่มีความเคลื่อนไหว เป็นบัญชีลักษณะฝากเพื่อกินดอกเบี้ย ทั้งนี้มีรายงานว่าขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบความเสียหาย ซึ่งเบื้องต้นพบว่ามีผู้เสียหาย 85 ราย จาก133 บัญชีที่ตรวจสอบ ยอดเสียหาย 491 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการตรวจสอบยืนยัน 100%

ขณะที่นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ยังคงร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งรัดตรวจสอบจำนวนเงินที่ถูกยักยอกให้ครบถ้วน โดยล่าสุดที่ตรวจสอบพบความเสียหาย 491 ล้านบาท ซึ่งยักย้ายเงินจากบัญชีเงินฝากของสมาชิก 85 ราย แต่มีสมาชิกบางคนที่ยังไม่มายืนยันยอดเงินฝากจึงสั่งการให้ทางสหกรณ์ออกหนังสือไปถึงสมาชิกเพื่อให้มายืนยันยอดจึงจะทราบความเสียหายที่แท้จริงซึ่งกำหนดเวลาให้เสร็จในวันที่ 15 เม.ย.

ขณะที่นาย สรรเสริญ อัจจุตมานัส อดีตเลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (6 เม.ย.) เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ ซึ่ง รมช. มนัญญา สั่งการให้ประชุมและเป็นประธานตนเองอยู่ในฐานะผู้ถือหุ้นของสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรฯ และมีความกังวลว่า ผลกระทบจากการยักยอกเงินครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะสมาชิกที่ถูกแอบถอนเงินออกไป แต่กระทบถึงสมาชิกทุกคน เงินที่ถูกยักยอกไม่สูญอยู่แล้ว ทางสหกรณ์ต้องจ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ย หากจะนำกำไร 151 ล้านบาท มาจ่ายคืนย่อมทำได้ แต่ที่เหลืออีก 340 ล้าน หากจะนำมาจากทุนเรือนหุ้นซึ่งมีอยู่ 1,574 ล้านบาท ย่อมกระทบถึงเงินลงทุนในหุ้นของสมาชิกอื่นๆ ด้วย ดังนั้นในที่ประชุมเมื่อวานนี้จึงเสนอให้คณกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ทำแผนฟื้นฟู โดยจ่ายเงินที่ถูกยักยอกไปส่วนหนึ่งก่อน แล้วที่เหลือทยอยจ่ายตามระยะเวลาที่กำหนดพร้อมดอกเบี้ย โดยนำกำไรจากการปล่อยกู้ของสหกรณ์ซึ่งคิดดอกเบี้ย 6% มาจ่าย ซึ่งจะกระทบต่อสมาชิกทุกคนน้อยที่สุด โดยส่วนตนเห็นว่า ต้องพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ให้สมาชิกตรวจสอบยอดเงินและที่กรมตรวจสบัญชีสหกรณ์ใช้ตรวจสอบการฝากถอนของสหกรณ์ เนื่องจากอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เจ้าหน้าที่กระทำผิดใช้ Low technology คือ พิมพ์ยอดเงินและดอกเบี้ยในบัญชีเงินฝากของสมาชิกด้วยพิมพ์ดีดไฟฟ้า แทนการพิมพ์จากระบบคอมพิวเตอร์ของสหกรณ์ หากต่อไปผู้ทุจริตใช้ High technology มากระทำผิดจะเสียหายมากกว่านี้.