เมื่อวันที่ 26 ก.ค.นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ยังคงมีคำถามมาเรื่อยๆ​ ถึงกรณีคลัสเตอร์​โรงงาน​ไก่​ อ.สองพี่น้อง​ ซึ่งผมได้ให้ทางสาธารณสุขจังหวัด​ และสำนักงานประชา​สัมพันธ์​จังหวัด​สุพรรณบุรี​ชี้แจงไปก่อนหน้าแล้ว​ และในวันนี้ผมจะขอมาอธิบายอย่างละเอียด​อีกครั้ง เพื่อสร้างความเข้าใจ​ ถึงหลักการบริหารจัดการ​ และการควบคุมโรคจังหวัด​สุพรรณบุรี​ครับ

1.​ เมื่อ​ทราบว่ามีผู้ติดเชื้อ​ในโรงงาน​ บริษัทได้หยุดการผลิต และ​ จนท.สาธารณสุข​ ลงพื้นที่คัดกรอง​ สอบสวนโรคทันที​ (ตั้งแต่วันที่​ 15​ ก.ค.64)​

2. เพื่อให้สามารถวางแผนจัดการ​ และคัดแยกผู้ติดเชื้อ​ได้เร็วที่สุด จึงใช้​ Rapid​ Test​ คัดกรองพนักงาน​ทั้งหมด​ จำนวน​ 2,510 คน​ (100%) โดยบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบ​ค่าใช้จ่าย​ในส่วนนี้เอง

3.​ แบ่งพนักงานเป็น​ 3​ กลุ่ม​ ได้แก่​

          1)กลุ่มผู้ติดเชื้อ​

          2)กลุ่มผู้​สัมผัส​เสี่ยงสูง​

          3)กลุ่มไม่ติดและไม่เสี่ยง

4.​ นำพนักงานกลุ่ม​ 1​ และกลุ่ม​ 2​ มา​ Swab​ Test​ ซ้ำอีกครั้ง​ แยกผู้ติดเชื้อ​ออกมารักษา​ สำหรับผู้​สัมผัส​เสี่ยงสูง​ถูกกักตัว​ ณ​ หอพักของโรงงาน

5.​ จากผลการคัดกรอง​ และผล​ Swab​ Test​ ทำให้ทราบว่า​ การแพร่ระบาดกระจุกตัวอยู่เฉพาะบางกลุ่ม จึงได้ปิดโรงงาน​ A​ เพื่อใช้เป็น รพ.สนาม​และที่กักตัว​ (บริษัทสร้างในบริเวณโรงงานและเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย) จึงให้พนักงานกลุ่ม​ 3​ ทั้งหมดที่เหลือ (บุคคลที่ไม่ติดและไม่เสี่ยง)​ มาทำงานในโรงงาน​ B​

**ดูแผนผังโรงงานในคอมเมนต์**

6.​ ได้ฉีดวัคซีน​ซิโนฟาร์ม​เข็ม​ 1​ ในวันที่​ 18​ ก.ค.64​ ให้กับพนักงานกลุ่ม​ 3​ ที่ไม่ติดและไม่เสี่ยง​ จำนวน​ 1,435 โด๊ส (โดยวัคซีน​นี้บริษัทเป็นผู้จ่ายเงินและสั่งซื้อตรงกับทางราช​วิทยาลัย​ฯ​ ได้รับการจัดสรรตามโควตา​ของโรงงานอุตสาหกรรม)​

สาเหตุ​ที่ไม่ปิดโรงงาน​ B​  ด้วยเพราะ?

จากกรณี​การแพร่ระบาด​ในแคมป์​คนงาน​ หรือคลัสเตอร์​โรงงานต่างๆ​ ของไทยที่ผ่านมา​ ที่มีพนักงานเป็นชาวต่างชาติ เมื่อมีการปิดโรงงานทั้งหมด​ (shut down 100%)​ ​แรงงานเหล่านี้ซึ่งมีจำนวนมาก​ และไม่ได้มีถิ่นฐานแน่ชัด พอขาดรายได้ก็จะอพยพ​หรือหลบหนีออกนอกพื้นที่​ อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายสู่ชุมชน ยากต่อการควบคุม​ เราจึงเลือกที่จะหยุดการผลิตทั้งหมดในช่วงแรก​ ทำความสะอาดพ่นฆ่าเชื้อ​อุปกรณ์​และพื้นที่ทั้งหมด ปิดโรงงานบางส่วนทำเป็น รพ.สนามและที่กักตัว หลังจากนั้นให้แรงงานที่ไม่ติด/ไม่เสี่ยง​ (กลุ่ม​ 3) ได้ทำงานต่อ​ ให้เขามีรายได้​ อยู่ในการควบคุมดูแล​ โดยใช้วิธี​ Bubble &​ Seal บริษัทจะจัดที่พักให้ในโรงงาน​ และจัดหาที่พักด้านนอก โดยมีการควบคุมการเดินทาง​จากที่พักถึงที่ทำงาน​ เมื่อพนักงานกลับถึงบ้านหรือที่พักให้แยกกักตัว​ไม่ออกไปไหน​ ซึ่งจะมีสาธารณสุข​อำเภอสองพี่น้อง​และฝ่ายปกครองคอยควบคุม​

ยอดติดเชื้อ​สะสม​โรงงานไก่

โรงงาน​ A​ : 148​ ราย

โรงงาน​ B​ :46​ ราย

ไม่พบผู้​ติดเชื้อ​เพิ่มติดต่อกันมาเป็นเวลา​ 2​ วัน​ ซึ่งวันนี้​ (26​ ก.ค.64)​ จะมียอดผู้​ติดเชื้อ​เพิ่มขึ้น​จากผล​ Swab​ Test​ ซ้ำ​ ของกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ถูกกักตัวอยู่

สุดท้ายนี้ผมขอบคุณ​สำหรับข้อมูล​/ข้อเสนอแนะ​ ด้วยดีเสมอมา ผมเข้าใจและน้อมรับทุกคำติชม​ เพราะรู้ดีว่าเราต่างมีจุดประสงค์​เดียวกัน​ ที่มุ่งหวังดีต่อ​ จ.สุพรรณบุรี ขอบคุณ​ทุกท่านที่เปิดใจรับฟังครับ

สำหรับท่านใดที่สงสัยว่าวิธี​ Bubble & Seal ทำอย่างไร​ จะอธิบาย​ในโพสต์ถัดไปครับ