เมื่อวันที่ 10 เม.ย. นายสาธิต คำเจียกขจร เครือข่ายอุทยานธรณีเพชรบูรณ์พื้นที่น้ำหนาว ได้รับแจ้งจาก นายเล็ง สนทอง ชาวบ้านหมู่ 1 บ้านห้วยหญ้าเครือ ต.น้ำหนาว อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ว่า ขณะนำรถแทรกเตอร์ไถปรับหน้าดินเพื่อทำการเพาะปลูกทำไร่มันสำปะหลัง ได้พบชิ้นส่วนคล้ายกระดูกสัตว์ซึ่งกลายสภาพเป็นหิน จำนวน 3 ชิ้น ซึ่งจากการตรวจสอบมีลักษณะเป็นซากกระดูกดึกดำบรรพ์ หรือ ฟอสซิล (Fossil) คล้ายกระดูกไดโนเสาร์ จึงได้แจ้งประสานไปยังอุทยานธรณีเพชรบูรณ์เพื่อให้มาตรวจสอบ

ต่อมาทางด้าน ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ ผู้อำนวยการอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ (Phetchabun Geopark) มอบหมายให้คณะทีมงานสำรวจอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ลงพื้นที่สำรวจซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าว และพบว่าเป็นก้อนหิน จำนวน 3 ชิ้น ที่นำมาต่อกันคล้ายกับกระดูกสัตว์ ของสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ขนาดใหญ่เมื่อหลายสิบล้านปีก่อน ปัจจุบันได้แปลสภาพกลายเป็นหินรวมน้ำหนัก 3 ชิ้น หนักกว่า 4.5 กิโลกรัม มีความยาวอยู่ที่ 59 เซนติเมตร

นายพนมเทียน ทองสิทธิ์ นักธรณีอิสระจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า จากข้อมูลที่ส่งปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ได้ตั้งข้อสันนิษฐานคาดว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์กินพืช เนื่องจากเห็นเนื้อเซลล์กระดูกที่ผิวนอกกะเทาะออกมาให้เห็นจากรูปร่าง Outline และชิ้นส่วนที่พบเป็นชิ้นส่วนกระ ดูกหน้าแข้ง (fibula) หรือกระดูกแขน (radius) เพราะกระดูกของพวกสัตว์กินพืชจะค่อนข้างตัน ถ้าเป็นไดโนเสาร์พวกกินเนื้อ กระดูกแขนขาจะมีรูกลวงตรงกลางเพื่อทำให้คล่องตัว

นอกจากนี้จากการสำรวจพื้นที่จุดที่พบซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าว ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านนายเล็ง สนทอง ประมาณ 6-7 กม. มีลักษณะเป็นพื้นที่เนินเขาสูงต่ำ ทางทิศตะวันออกมองเห็นภูกระดึงชัดเจน โดยจุดที่พบซากดึกดำบรรพ์พอทราบได้ว่าอยู่ในชุดหินน้ำพอง (Trnp) ย่อมาจาก Tr. =Triassic (ไตรแอสสิค) NP = Nam pong (น้ำพอง) มีอายุกว่า 100 –200 ล้านปีมาแล้ว ซึ่งจังหวัดเพชรบูรณ์ได้เคยพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ส่วนปลายของกระดูกอิสเซียม (กระดูกสะโพกส่วนหน้า) ของไดโนเสาร์โปรซอโรพอด มาแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2535 ในเขต อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ และพบว่าอยู่ในยุคไทรแอสซิกตอนปลาย (210 ล้านปี) เก่าที่สุดในประเทศไทย

ส่วนจะเป็นซากฟอสซิลไดโนเสาร์ตัวไหนคงต้องรอทางด้านผู้เชี่ยวชาญจากกรมทรัพยากรธรณีมาวิเคราะห์อย่างละเอียดอีกครั้ง และมาลุ้นกันว่าสมาชิกใหม่ของอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ จะเป็นไดโนเสาร์รูปร่างหน้าตาอย่างไร