เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 14 เม.ย. ที่สำนักงานเขตพระนคร นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรการและการแก้ปัญหา หลังจากเมื่อวานนี้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามายังถนนข้าวสารเพื่อเล่นน้ำสงกรานต์กันเนืองแน่น โดยมีนายวสันต์ บุญหมื่นไวย์ ผู้อำนวยการเขตพระนคร, พ.ต.อ.สนอง แสงมณี ผกก.สน.ชนะสงคราม สำนักงานเขตพระนคร ร่วมสำนักเทศกิจ, ตำรวจ ทหาร, อปพร., ฝ่ายสิ่งแวดล้อม กทม. และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

นายขจิต กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ​เพื่อหาแนวทางดูแลนักท่องเที่ยว​ถนนข้าวสาร​ หลังเมื่อวานนี้มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมาเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน ควบคุมไม่ได้ เสี่ยงกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า ในวันนี้​ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะงดเล่นน้ำและฉีดน้ำในร้านอาหารและพื้นผิวถนนอย่างเด็ดขาด​และอนุญาต​ให้นักท่องเที่ยวที่มาถนนข้าวสารนั่งรับประทาน​อาหารในร้านและจำหน่ายเครื่องดื่ม​แอลกอฮอล์​ ตามมาตราฐาน SHAs+โดยจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ได้​ 17.00-23.00 น. ​และหากฝ่าฝืนต้องใช้กฎหมายมาบังคับ​ ตั้งแต่คืนนี้จะใช้กำลังเข้าหน้าที่​ สำนักงานเขต​/และ สน.ชนะสงคราม​ 70​ กว่าคน เข้าไปดูแลความเรียบร้อยโดยเน้นการประชาสัมพันธ์​ทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ​ และจะเริ่มวางแผงเหล็กใช้เป็นแนวกั้นเพื่อคัดกรองเข้าพื้นที่ในเวลา 13.00 น.​ โดยนักท่องเที่ยวที่นำอุปกรณ์​เล่นน้ำมาให้ฝากไว้กับเจ้าหน้าที่จุดคัดกรองอีกทั้งยังจำกัดคนเข้าด้วย แต่ไม่มีจุดตรวจ ATK เนื่องจาก​​ผู้ประกอบการ​ถนนข้าวสาร​ ไม่ได้ขออนุญาต​จัดงานสงกรานต์​มาตั้งแต่ต้น ดังนั้นจึงไม่อนุญาต​ให้จัดงานหรือ​เล่นน้ำและหากอยากเล่นน้ำสามารถไปเล่นได้ที่จุดที่ขออนุญาต​อย่างถูกต้องคือ​ เอเชีย​ทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ที่จัดตั้งแต่เวลา​17.00-22.00 น. และมีอีก​ 10​ วัด​ ที่จัดงานเย็นทั่วล่ามหาสงกรานต์​สืบสานประเพณี​ไทย​ ที่จัดถึงเวลา​ 17.00 น.​ และยืนยันว่า แม้ไม่ได้สนุกที่ถนนข้าวสาร ​ก็ไปเล่นน้ำที่วัดได้​ และไม่ได้เป็นวัวหายล้อมคอกเพราะบรรยากาศ​เมื่อคืนเกินกว่าที่คาดการณ์​ไว้​ แต่ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จะต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด

ขณะที่ทาง พ.ต.อ​ สนอง​ กล่าวว่า ทางตำรวจจะไม่บังคับใช้กฎหมายหากไม่จำเป็นและฝ่าฝืนกระทำความผิด​ โดยจะเน้นการประชาสัมพันธ์​และให้ตำรวจท่องเที่ยวสื่อสารกับนักท่องเที่ยวให้เข้าใจข้อกฎหมาย​ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงแพร่ระบาด แม้มีความผิดตำรวจ ก็จะไม่จับเพราะเชื่อว่าประชาสัมพันธ์​ยังน้อย​ ส่วนเมื่อคืนมีร้านอาหารที่ฝ่าฝืนจำหน่ายเครื่องดื่ม​แอลกอฮอล์​เกินเวลาที่กำหนด​ 8​ ร้าน​ ซึ่งได้​เปรียบเทียบ​ปรับไปแล้ว​

ด้านนายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจถนนข้าวสาร​ ระบุว่า​ กฎหมายกับบรรยากาศมีความย้อนแย้งกันและบรรยากาศแบบนี้เพิ่งกลับมาและหากใช้กฎหมายมากเกินไปก็จะไม่เกิดขึ้นแต่จะไปทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการไม่ให้เล่นน้ำสงกรานต์​ ส่วนในแง่เศรษฐกิจ​ยอมรับว่าเมื่อวานมีเงินสะพัดกว่า​ 10​ ล้านบาท​ ในวันเดียว​/แต่หากเทียบกับสงกรานต์​ที่ผ่านมามีเงินสะพัด ​50-80 ล้านบาท​ ก็ถือว่ายังน้อยและไม่กังวลการแพร่ระบาดโควิด-19 เพราะส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวได้มีการคัดกรองจากสนามบินก่อนที่จะเข้าพื้นที่อยู่แล้ว แต่ผู้ประกอบการก็ต้องดำเนินการตามมาตรฐาน SHAs+ให้ได้​ อีกทั้ง ตนเองยังไม่ห่วงภาพลักษณ์ของถนนข้าวสารด้วย

มีรายงานว่าจากการหารือ มีการกำหนดจุดคัดกรอง 8 จุด บริเวณหัวท้ายถนนข้าวสาร และซอยเชื่อมต่อที่จะเข้ามาถนนข้าวสาร โดยให้ร่วมปฏิบัติกับสำนักงานอนามัย ตำรวจ เขตพระนคร พร้อมกันนี่จัดชุดสายตรวจประชาสัมพันธ์ 3 ชุดโดยรอบ ซึ่งมีกำลังประกอบด้วย ตำรวจพื้นที่ ตำรวจท่องเที่ยว เทศกิจ และเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของกทม เพื่อทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงมาตรการของภาครัฐ โดยมุ่งเน้นประชาสัมพันธ์ข้อความต่างๆ ของ กทม. เนื่องจากทางพื้นที่ไม่ได้มีการขออนุญาตในการจัดกิจกรรม จึงห้ามเล่นทั้งในร้านและถนน รวมทั้งจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์จุดทางเข้าว่า “ถนนข้าวสาร งดเล่นน้ำสงกรานต์”

ทั้งนี้ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกทม. ได้จัดกิจกรรมเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ ทั้ง 11 จุด ประกอบไปด้วยวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร, วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร, วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร,วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร, วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร, วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร, วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร, วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร, วัดราชนัดดารามวรวิหาร และวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร (วัดประยูร) โดยให้เล่นน้ำได้ช่วงเช้าถึง 17.00 น. และเอเชียทรีค เล่นได้ตั้งแต่ 17.00-22.00 น. 

ทั้งนี้มีรายงานว่าวานนี้ทางสน.ชนะสงครามและสำนักงานเขตพระนคร ได้กวดขันจับกุมผู้ฝ่าฝืน ตั้งวางจำหน่ายสินค้าตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาด จำนวน 6 ราย มาแสดงตัวเปรียบเทียบปรับไปแล้ว 3 ราย และจับกุมผู้ประกอบการ 8 ราย ในฐานความผิด ลักลอบจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และจัดให้มีการบริโภคภายในร้าน อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 42) ประกอบประกาศกรุงเทพมหานครเรื่องการสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 50)