รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า แขวงทางหลวงปราจีนบุรี เชิญชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งประชาชนทั่วไปผู้ใช้เส้นทางร่วมแสดงความคิดเห็น โดยตอบแบบสอบถามออนไลน์ผ่านเว็บไซต์แขวงฯ หรือสแกนคิวอาร์โค้ด หรือทางเฟซบุ๊ก : แขวงทางหลวงปราจีนบุรี ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. จนถึง 31 ก.ค.นี้ เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างขยายช่องจราจรทางหลวงหมายเลข 3481 สาย บ.บางขนาก-ปราจีนบุรี จากเดิม 2 ช่องจราจรไป-กลับ เป็น 4 ช่อง ไป-กลับ ระยะทางรวม 19.850 กม. งบประมาณรวม 1,650 ล้านบาท ขณะนี้ได้ตัวผู้รับจ้างแล้ว คาดว่าจะลงนามสัญญาเดือน ส.ค.นี้ ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จปี 67 แบ่งดำเนินงานเป็น 2 ช่วง ดังนี้ 

1.โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3481 สาย บ.บางขนาก-ปราจีนบุรี ตอน บ.บางขนาก-บ.บางเตย ช่วง กม.ที่ 26+800-34+800 จุดเริ่มต้นบริเวณหน้าโครงการพัฒนาส่วนพระองค์บางแตน ถึง แยก บ.บางยาง หรือแยกพรีเมียร์ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี 8 กม. งบประมาณ 700 ล้านบาท และ 2.โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3481 สาย บ.บางขนาก-ปราจีนบุรี ตอน บ.หัวไผ่-การเคหะฯ ปราจีนบุรี ช่วง กม.ที่ 47+200-53+300 และ ช่วง กม.54+450-60+200 จุดเริ่มต้นบริเวณหน้าวัดหัวไผ่ถึงร้านนิยมเฟอร์นิเจอร์ (ก่อนถึงวัดโบสถ์) อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี 11.850 กม. งบประมาณ 950 ล้านบาท

สำหรับทางหลวงหมายเลข 3481 มีระยะทาง 63 กม. เริ่มต้นจากพื้นที่ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรามาบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 319 (สายปราจีนบุรี-อ.พนมสารคาม) พื้นที่ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของแขวงฯ ปราจีนบุรี 38.217 กม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างขยายจาก 2 ช่องเป็น 4 ช่องรวมทั้งหมดเกือบ 31 กม. แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ในปีงบ 63 ได้รับงบ 898 ล้านบาท ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3481 สาย บ.หัวสะแก-บ.หัวไผ่ ช่วง กม.ที่ 36+700-47+200 อ.บ้านสร้าง 10.5 กม. เริ่มสร้างปี 63 แล้วเสร็จปี 66 ส่วนอีก 2 ช่วงได้งบปี 64 วงเงิน 1,650 ล้านบาท เพื่อมาดำเนินการ 19.850 กม. ส่วนที่เหลืออีก 7 กว่า กม. อนาคตจะดำเนินการขยายเป็น 4 ช่วงให้ครบทั้งหมดต่อไป  

ทั้งนี้ทางหลวงหมายเลข 3481 เป็นสายทางที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะด้านการสัญจรของประชาชนในพื้นที่ การเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่ง ทั้งขนส่งสินค้า เชื่อมต่อโครงข่ายทางหลวงสายนี้เป็นเส้นทางที่สามารถสัญจรระหว่างกรุงเทพฯ และ ปราจีนบุรี ปัจจุบันมีการจราจรเพิ่มขึ้น ใช้เวลาเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา และ ปราจีนบุรีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับเส้นทางอื่น

แต่เนื่องจากสภาพสายทางมีสภาพมีความเสียหาย ต้องซ่อมบำรุง และยังจำเป็นพัฒนาให้เกิดความปลอดภัย รองรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจตามแผนบูรณาการด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งให้สะดวก รวดเร็วและปลอดภัยในการเดินทาง รวมทั้งขยายและปรับปรุงผิวจราจรเดิมที่เสียหาย เพื่อลดอุบัติเหตุ รวมทั้งสนับสนุนการขนส่งระหว่างกรุงเทพฯ เชื่อมจังหวัดในภาคตะวันออก และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)