เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ บก.ปปป. นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำหลักฐานเป็นสำเนาภาพถ่ายและคลิปวิดีโอวงจรปิด เข้าพบ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. และ พ.ต.อ.พิทักษ์ วาฤทธิ์ ผกก.2 บก.ปปป. เพื่อกล่าวโทษคณะพนักงานสอบสวน บช.ภ.1 สภ.นนทบุรี และผู้เกี่ยวข้องในคดี น.ส.ภัทรธิดา พัชรวีระพงศ์ หรือ แตงโม นิดา ดาราสาวชื่อดังที่ตกเรือสปีดโบ๊ตเสียชีวิตในแม่น้ำเจ้าพระยา ตามคำสั่งของ ผบช.ภ.1 ฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ม.131 และ ม.132

นายอัจฉริยะ กล่าวว่า หลังแตงโมเสียชีวตพนักงานสอบสวน สภ.นนทบุรี ได้ประสานเจ้าหน้าที่ พฐ. เข้าเก็บวัตถุพยานในเรือสปีดโบ๊ต ที่จอดอยู่ภายในอู่ ต.บางศรีเมือง อ.เมือง จ.นนทบุรี ในวันที่ 26 ก.พ.65 เวลา 11.00 น. วันที่ 27 ก.พ. เวลา 18.00 น. และวันที่ 28 ก.พ. เวลา 13.00 น. รวม 3 ครั้ง ไม่เจอเส้นผมของแตงโม แต่ในวันที่ 1 มี.ค. เวลา 16.30 น. พนักงานสอบสวน สภ.นนทบุรี และชุดสืบสวน บช.ภ.1 ประสานเจ้าหน้าที่ พฐ.เข้าเก็บวัตถุพยานในเรือลำเดียวกันเป็นครั้งที่ 4 กลับพบเส้นผมแตงโมอยู่ในซอกพื้นเรือด้านท้ายฝั่งซ้าย 1 เส้น ใต้พื้นเรือด้านหลังฝั่งขวา 1 เส้น และบริเวณท้ายเรืออีก 1 เส้น ซึ่ง 2 เส้นหลังอยู่ในตำแหน่งใต้ผิวน้ำ จึงเกิดคำถามว่า 3 ครั้งแรก ทำไมตรวจไม่พบ ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่หลายคน และอยู่ในจุดที่สังเกตง่าย ทำไมพบเฉพาะเส้นผมของแตงโมบนเรือ ทำไมเส้นผมแตงโมอยู่แค่บริเวณท้ายเรือ เป็นไปได้หรือที่เส้นผมจะไม่ถูกกระแสน้ำซัดขณะเรือแล่น เหตุใดเส้นผมถึงไม่ปลิวไปตามกระแสลมพัดเมื่อนำเรือมาไว้บนบก เส้นผมแตงโมมาจากไหน ใครเป็นคนเอามาใส่เพื่อสร้างพยานหลักฐานเท็จ

นายอัจฉริยะ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้พนักงานสอบสวน สภ.นนทบุรี ยังประสานเจ้าหน้าที่ พฐ. เข้าเก็บวัตถุพยานในเรือสปีดโบ๊ตลำเดียวกันอีกเป็นครั้งที่ 5 ในวันที่ 2 มี.ค.65 เวลา 23.00 น. กลับพบแก้วไวน์และแก้วแชมเปญเป็นหลักฐานเพิ่มเติม ทั้งที่ก่อนหน้าตรวจไม่พบ ทำให้ตนเชื่อว่าคดีนี้มีขบวนการสร้างพยานหลักฐานเท็จ โดยมุ่งเน้นให้สอดคล้องกับคำให้การของนายวิศาพัช มโนมัยรัตน์ หรือ แซน

“คดีนี้ทั่วโลกให้ความสนใจ แต่คณะพนักงานสอบสวนปล่อยให้มีการสร้างพยานหลักฐานเท็จ และไม่ทำตามระเบียบในการอายัดของกลาง เช่น การตรวจหาเส้นผมที่ต้องใช้เวลาถึง 4 ครั้ง ทั้งที่เรือไม่ได้มีขนาดใหญ่ อีกทั้งการจัดเก็บเรือลำเกิดเหตุ ที่ไม่มีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้า แต่กลับนำไปตากแดดไว้ และปล่อยให้บุคคลภายนอกเข้ามาได้ เมื่อถูกทวงถามก็ย้ายไปอีกที่หนึ่งและใช้ผ้าคลุม จึงอาจเชื่อได้ว่าเส้นผมที่พบนั้นเป็นพยานหลักฐานเท็จที่สร้างขึ้นมา” นายอัจฉริยะ กล่าว