เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้ประชุมจัดทำแนวทางการพัฒนาการจัดการเรียนรู้เชิงรุก หรือ Active Learning สู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ และการพัฒนาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ของผู้เรียน ร่วมกับรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่เราได้เผชิญกับสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ทำให้นักเรียนจำนวนมากพบกับภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ ซึ่งจากการวิจัยของสภาการศึกษา พบว่า นักเรียนในระดับต่างกัน จะพบภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เช่น ในระดับประถมศึกษา พบภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ในด้านความรู้ การอ่าน คณิตศาสตร์ และคุณลักษณะของนักเรียน ส่วนในระดับมัธยมศึกษา พบว่า มีความถดถอยทั้งในด้านความรู้ การเชื่อมโยงความรู้ สภาวะทางอารมณ์ สัมพันธภาพ โดยมีสาเหตุที่หลากหลาย

รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้สพฐ.มีแนวคิดที่จะลดช่องว่างปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียน ทั้งด้านความรู้พื้นฐานที่จำเป็น กระบวนการเรียนรู้ ทักษะชีวิต โดยดำเนินการเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้และเติมเต็มด้วยตนเองนอกห้องเรียน ด้วยการทำกิจกรรมในรูปแบบที่สนุกสนาน ส่วนที่สอง สร้างความเข้าใจและส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครูผู้สอนในลักษณะของ Active Learning ที่ให้ความสำคัญกับสมรรถนะของผู้เรียน ซึ่งที่ประชุมได้มีการวิเคราะห์ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ ของนักเรียน และวิเคราะห์กรอบแนวคิดสำคัญของ 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และภาษาต่างประเทศ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษา เพื่อออกแบบกิจกรรมสำหรับนักเรียน และจัดทำแนวทางการจัดการเรียนรู้ Active Learning ให้เกิดสมรรถนะ พร้อมทั้งเชื่อมโยงเนื้อหาให้มีความหมาย ทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าต่อสิ่งที่เรียนรู้และสามารถนำไปใช้ได้จริง

“การขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาด้วยการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนของครู ให้คำนึงว่าเราจะสอนอย่างไร โดยจัดการเรียนการสอนในแนวทางที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนและนักเรียน เช่น การจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการตัวชี้วัด บูรณาการข้ามกลุ่มสาระการเรียนรู้ เพิ่มทัศนคติและคุณค่า ด้วยกระบวนการ Active Learning, การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ Active Learning โดยเริ่มจากตัวอย่างที่ง่ายที่สุด ใกล้ตัวนักเรียนมากที่สุด มีความหมายกับนักเรียนมากที่สุด ให้เวลานักเรียนได้จัดระบบความคิดของตนเองต่อยอดจนเกิดความคิดสร้างสรรค์ และเกิดนวัตกรรมในที่สุด อย่างไรก็ตาม สพฐ. พยายามหาแนวทางที่หลากหลายให้กับครูในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อย่างเช่นครั้งนี้ที่ทำในมิติของการเชื่อมโยงกับหลักสูตรให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เสมือนเป็นการเปิดโลกให้กับการเติม Learning Loss โดยสิ่งที่ต้องการเน้นย้ำ คือ การใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของครูในสถานการณ์ปัจจุบัน ถือเป็นช่วงนาทีทองที่จะพัฒนาคุณภาพนักเรียนตามเป้าหมายทั้งในระดับชาติและระดับสากล ผ่านกระบวนการที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วย Active Learning” ดร.เกศทิพย์ กล่าว