สำนักข่าวเอพีรายงานจากเมืองกูวาฮาติประเทศอินเดียเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ว่า กระทรวงสาธารณสุขของภูฏานแถลงว่า ภูฏานประเทศขนาดเล็กตั้งอยู่ระหว่างอินเดียกับจีน มีประชากรเกือบ 800,000 คน เริ่มต้นการฉีดวัคซีนโควิด-19ในเข็มที่สองเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา ในโครงการจัดฉีดวัคซีนขนานใหญ่จนได้รับการยกย่องจากองค์การยูนิเซฟว่าเป็นการจัดฉีดวัคซีนได้เร็วที่สุดในระหว่างการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 เพราะจัดฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้สูงถึง 90% ภายใน 7 วัน


โดยเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ภูฏานตกเป็นข่าวพาดหัวว่ารัฐบาลได้ทำการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศเข็มแรกได้สำเร็จภายใน 2 สัปดาห์เท่านั้น หลังจากอินเดียบริจาควัคซีนมาให้ 550,000 โด๊สเป็นวัคซีนแอสตราเซเนกา แต่หลังจากนั้น ภูฏานประสบกับการขาดแคลนวัคซีนเพราะอินเดียประเทศผู้สรรหาวัคซีนแอสตราเซเนกาให้นั้น ต้องหยุดการผลิตเพื่อส่งออก เพราะต้องนำมาใช้ในประเทศแทนเนื่องจากพบการติดเชื้อในประเทศสูงมาก แต่ภูฏานก็เพิ่งจะกลับมาเริ่มต้นได้อีกครั้งกับการจัดฉีดวัคซีนให้กับประชาชน เพราะได้รับวัคซีนโมเดอร์นาจากสหรัฐอเมริกาบริจาคมาให้ 500,000 โด๊สภายใต้โครงการโคแวกซ์ของสหประชาชาติ แล้วยังมีอีก 5,000 โด๊สของไฟเซอร์ กับอีกกว่า 400,000 โด๊สเป็นวัคซีนแอสตราเซเนกาได้จากเดนมาร์ก โครเอเชียและบัลแกเรียในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
เดเชม วังโม รัฐมนตรีสาธารณสุขภูฏานกล่าวว่า เป้าหมายของเราคือสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในกลุ่มประชาชนของเราให้ได้ในช่วงระยะเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเลี่ยงวิกฤตสาธารณสุข ซึ่งหลายประเทศตะวันตกแม้จะมีวัคซีนมากแต่ก็ยังไม่สามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรผู้ใหญ่ได้เร็วเท่านี้
ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขตั้งข้อสังเกตว่า ภูฏานเป็นประเทศที่มีประชากรขนาดเล็กจึงมีส่วนช่วยให้ดำเนินการจัดฉีดวัคซีนได้เร็ว แล้วยังได้รับคำแนะนำที่มีประโยชน์จากเจ้าหน้าที่ระดับสูงสามารถติดตั้งระบบลูกโซ่ความเย็นได้ นอกจากนั้นก็ยังมีบุคลากรทางการแพทย์กว่า 3,000 คนและศูนย์วัคซีน 1,200 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้จัดฉีดวัคซีนกับประชากรผู้ใหญ่ได้ทุกคนในทุกพื้นที่ ดร.โซนัน วังชุค สมาชิกคณะกรรมการเฉพาะกิจวัคซีนของภูฏานกล่าวว่า วัคซีนคือเสาหลักของการสาธารณสุขริเริ่มของภูฏาน
เครดิตภาพAP