เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 ผู้ใช้งานแอพติ๊กต็อกรายหนึ่งซึ่งใช้ชื่อว่า ‘Aamir Cali’ ได้โพสต์คลิปวิดีโอโดยเขียนข้อความกำกับไว้ว่า ‘จับนางเงือกตัวจริงได้ที่มุยเซนเบิร์ก แอฟริกาใต้’ โดยคลิปดังกล่าวถ่ายให้เห็นกลุ่มคนที่กำลังห้อมล้อมร่างที่มีลักษณะครึ่งคนครึ่งปลาอยู่บนชายหาดซึ่งส่วนหางยังคงเคลื่อนไหวอย่างอ่อนแรง

https://www.tiktok.com/@aamircali/video/7083251484179139845?is_from_webapp=1&sender_device=pc&web_id=7050384210213307905

คลิปดังกล่าวได้กลายเป็นไวรัลและมียอดการเข้าชมที่สูงถึง 9.6 ล้านครั้ง ทั้งนี้ บัญชีผู้ใช้งานดังกล่าวเป็นหนึ่งในกลุ่มของชาวติ๊กต็อกที่อ้างว่าเคยเห็นนางเงือกตัวจริงที่ถูกบันทึกภาพไว้ 

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มาแสดงความเห็นต่อคลิปดังกล่าวจำนวนมากต่างแสดงความสงสัยและไม่เชื่อว่า ร่างที่เห็นในคลิปดังกล่าวจะเป็นเงือกจริง ๆ บางรายคาดเดาว่าส่วนที่ดูเหมือนเป็นหางปลานั้น ความจริงแล้วคือปลาตัวใหญ่ที่กลืนเด็กเข้าไปครึ่งตัว ขณะที่อีกหลายคนมองว่าเป็นการนำหางปลามาสวมให้เด็กแล้วบังคับการเคลื่อนไหวของส่วนหางด้วยการชักใยเหมือนหุ่นกระบอก 

อีกความเป็นไปได้ก็คือคลิปดังกล่าวเป็นการตัดต่อภาพสองภาพเข้าด้วยกัน คือการนำภาพของปลาขนาดใหญ่ที่กำลังดิ้นมาตัดต่อเข้ากับภาพร่างท่อนบนของเด็กหรือตุ๊กตา

ตามข้อมูลขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ ยังไม่เคยพบหลักฐานใด ๆ ที่พิสูจน์ได้ว่า สิ่งมีชีวิตครึ่งคนครึ่งปลาในตำนานพื้นบ้านของหลายประเทศอย่าง ‘เงือก’ มีตัวตนอยู่จริง 

ต่อมาในวันที่ 7 เม.ย. ก็มีคลิปเพิ่มเติมของเหตุการณ์เดียวกัน ปรากฏขึ้นในเว็บไซต์ยูทูบและแอพติ๊กต็อก โดยในคราวนี้มีคำบรรยายว่าเป็นภาพที่บันทึกจากเมืองอูกันดา ซึ่งเป็นเมืองริมทะเลในประเทศเคนยา คลิปดังกล่าวมีผู้เข้าชมในหลักล้านเช่นกัน

ผู้โพสต์คลิปดังกล่าวไม่ได้โพสต์เพิ่มเติมหลังจากนั้น และไม่เคยตอบคำถามใด ๆ จากผู้ที่มาแสดงความเห็นเพื่อชี้แจงที่มาของคลิปว่าเป็นภาพที่บันทึกไว้ตามเหตุการณ์จริงหรือไม่

สื่อท้องถิ่นของเคนยารายงานว่า คณะกรรมาธิการดูแลชายฝั่งในภูมิภาคของเคนยาและผู้กำกับการตำรวจประจำเมืองควาเลเคาน์ตีกล่าวหาว่าคลิปดังกล่าวเป็น “เรื่องโกหก” โดยชี้แจงว่า รายงานที่ระบุว่ามีการพบนางเงือกที่ชายฝั่งเมืองอูกันดาที่กำลังเผยแพร่ไปทั่งโซเชียลมีเดียนั้นเป็นข่าวปลอม 

ด้านโฆษกของหน่วยตำรวจประจำเมืองมุยเซนเบิร์ก แอฟริกาใต้แถลงว่า ทางหน่วยงานไม่เคยได้รับรายงานว่ามีการพบ ‘นางเงือก’ ซึ่งถูกคลื่นซัดมาเกยตื้นบนชายหาด รวมทั้งไม่มีผู้รายงานเหตุว่าพบเด็กโดนปลาทะเลกัดเมื่อเร็ว ๆ นี้แต่อย่างใด 

รายงานการพบเห็นนางเงือกหรือการค้นพบซากนางเงือกนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายประเทศ เนื่องจากสิ่งมีชีวิตในตำนานประเภทนี้จัดว่าเป็นหัวข้อยอดนิยมสำหรับผู้ที่หลงใหลในตำนานและเทพนิยายต่าง ๆ และมักกระตุ้นความสนใจของคนจำนวนมากได้

ภายในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีผู้โพสต์คลิปในหัวข้อ ‘เงือกตัวจริง’ บนแอพติ๊กต็อกเป็นจำนวนมาก และมักจะกลายเป็นไวรัลเสมอ ๆ โดยมีจำนวนผู้เข้าชมและแสดงความเห็นในหลักล้านขึ้นไป

แหล่งข่าวและเครดิตภาพ : Insider.com