เร็วๆ นี้ เพิ่งออกมาเตือนกันหนักให้ระวังการใช้ Deepfake ตัดต่อภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจขยับปากตามเสียงพูดของมิจฉาชีพมาหลอกผู้เสียหายให้เชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจพูดจริงๆ เพื่อหลอกลวงทรัพย์สิน ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีมุกใหม่งัดออกมาใช้เพิ่ม ซึ่งน่าตกใจเพราะทั้ง 2 มุกใหม่ เป็นทั้งเรื่องใกล้ตัวและสามารถสร้างความเสียหายได้ในพริบตาหากไม่ทันสังเกตให้ดี 

กรณีแรกอ้างตัวมาจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โทรศัพท์หลอกขอข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อนำไปใช้แอบอ้างทำธุรกรรม ไปจนถึงหลอกให้โอนเงิน

กับอีกกรณีฮือฮากันมากคือ การนำแอพพลิเคชั่นที่เป็นประโยชน์มาใช้ทางผิด หลังมีรายงานจากฝ่ายรับแจ้งความออนไลน์ พบผู้เสียหายถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างตัวเป็นตำรวจ สภ.เชียงราย หลอกว่ามีการสิ่งของผิดกฎหมาย  และส่งลิงก์แอพที่ควรสามารถควบคุมเครื่องระยะไกล ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีที่สร้างมาเพื่อใช้ประโยชน์เพราะสามารถควบคุมคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นได้เหมือนนั่งอยู่หน้าจอ แต่มิจฉาชีพอาศัยคุณสมบัตินี้มาใช้

พฤติกรรมรายนี้ มิจฉาชีพอ้างให้โหลดลิงก์แอพเพื่อแจ้งความออนไลน์ เมื่อโหลดแล้วมีการบอกรหัส 9 หลักกลับไป ก่อนมิจฉาชีพจะบอกให้ผู้เสียหายคว่ำหน้าจอไว้ 15 นาที สุดท้ายพบเงินในบัญชีธนาคารหายไปรวม 4 บัญชี เป็นเงินกว่า 2 ล้านบาท

กรณีนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เตือนภัยพร้อมตั้งข้อสังเกตที่มิจฉาชีพให้โหลดแอพและให้บอกรหัส 9 หลัก ก่อนคว่ำจอโทรศัพท์ 15 นาที เพื่อรอตรวจสอบข้อมูล ใน 15 นาทีนั้น น่าจะเป็นช่วงดูดข้อมูล โดยมิจฉาชีพอาศัยจังหวะดังกล่าวขอเปลี่ยนรหัสเข้าบัญชีเอง เพราะมีเลข OTP ส่งจากธนาคารมาที่โทรศัพท์ผู้เสียหาย และมิจฉาชีพสามารถเห็นหน้าจอโทรศัพท์มือถือผู้เสียหายได้จากหน้าจอมิจฉาชีพเอง จึงทำรายการโอนเงินที่เครื่องตัวเองได้ทันที

ในเรื่องนี้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) ย้ำหลักการสังเกตข้อสำคัญคือ ตร.ไม่มีนโยบายให้ตำรวจหน่วยงานต่างๆ ติดต่อผู้เสียหายทางไลน์ หรือให้โหลดแอพ หรือให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบเด็ดขาด ส่วนกรณีโหลดแอพที่เกิดขึ้น การที่คนอื่นควบคุมโทรศัพท์เราได้ไม่ต่างอะไรกับที่เรายื่นโทรศัพท์ให้เขาเอง อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเงินในบัญชีจะหายได้ทันที เพราะมิจฉาชีพยังไม่รู้รหัสการทำธุรกรรมกับ e-banking หากมีสติ ไม่บอกรหัส ก็ยากที่มิจฉาชีพจะกดโอนเงินผ่านช่องทางดังกล่าวได้ ดังนั้น อย่าบอกข้อมูลส่วนตัวให้ใครง่ายๆ โดยเฉพาะรหัส OTP หรือรหัสควบคุมเครื่อง

จากข้อมูล ศปอส.ตร.เคยรายงานข้อมูลว่าประเทศไทยมีการใช้โทรศัพท์เพื่อหลอกลวงมากกว่า 6.4 ล้านครั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า ร้อยละ 270 จากปี 63 และพบการส่งข้อความ SMS หลอกลวงเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 57 ขณะที่ Whoscall เผยถึงสถิติที่รวบรวมจากผู้ใช้งาน Whoscall ทั่วโลก พบ 14 วิธีที่มิจฉาชีพมักใช้โทรศัพท์ หรือส่งข้อความหลอกลวง ได้แก่

1.หลอกปล่อยกู้

2.หลอกว่ามีงานให้ทำ

3.หลอกว่าพัสดุมาส่ง

4.หลอกขายตั๋วชมกีฬาให้

5.หลอกนัดเจอเพื่อออกเดท

6.หลอกแจ้งเตือนการโอนเงิน

7.หลอกให้ลงทุนในหุ้นหรือคริปโต

8.หลอกว่าไมล์ตั๋วเครื่องบินหมดอายุ

9.หลอกให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นอันตราย

10.หลอกว่าพัสดุค้างอยู่ในด่านศุลกากร

11.หลอกว่ายอดค่าบริการโทรศัพท์มือถือเกินกำหนด

12.หลอกว่าเป็นเพื่อน / ครอบครัว ยืมเงิน ขอเงิน

13.หลอกเรื่องการใช้งานบัตรเครดิตที่ไม่ได้รับอนุญาต

14.หลอกว่าพัวพันในคดี เช่น ฟอกเงิน ค่าปรับจราจร

ระยะหลังจะพบตัวอย่าง “ปลายสาย” หลายคนไม่หลงเชื่อ และรู้เท่าทันมา บอกกล่าวต่อๆ กัน แต่มิจฉาชีพเองก็ปรับตัวเพราะรู้ว่าถูกจับทางง่ายขึ้น ดังนั้น ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด หากเผชิญกับสาย-ข้อความ ต้องสงสัย แค่จำไว้ว่าไม่จำเป็นต้องรีบตอบรับหรือโอน เพราะไม่สายที่เราจะเป็นฝ่ายติดต่อกลับไปยังหน่วยงานที่อ้างเอง เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเอง ซึ่งปลอดภัยกว่าแน่นอน.

ทีมข่าวอาชญากรรมรายงาน

[email protected]