ถือเป็นเรื่องน่ายินดีกับความสำเร็จที่ประเทศไทยทำให้ผืนป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งต้องขอขอบคุณ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในคณะกรรมการมรดกโลก นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงปารีส และ ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะรองหัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญทางด้านมรดกทางวัฒนธรรมและมรดกทางธรรมชาติพร้อมด้วยผู้แทน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ที่นำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ซึ่งไทยมีความพยายามในการผลักดันการขึ้นทะเบียนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นกลไกหนึ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของไทยให้คงอยู่สืบไป

นายวราวุธ ศิลปอาชา เปิดเผยว่า ถือว่าเป็นเวลา 16 ปีแล้วครับ นับตั้งแต่ ปี พ.ศ.254 หลังจากกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ประเทศไทยก็ได้หันมาเริ่มการเตรียมความพร้อมให้กลุ่มป่าแก่งกระจาน เพื่อเสนอเป็นมรดกโลกเป็นเป้าหมายถัดไปทันที โดยตลอดระยะเวลา 10 ปี (2548-2558) เราได้เผชิญความท้าทายทั้งในด้านการอนุรักษ์ ปกป้อง ปราบปรามการบุกรุกและค้าสัตว์ป่า ไปจนถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ร่วมกับป่า และแม้รัฐบาลที่ผ่านมา จะยกระดับการพัฒนาป่าแก่งกระจาน ให้ได้มาตรฐานตรงตามเงื่อนไขของคณะกรรมการมรดกโลก จนเห็นว่ามีความพร้อมแล้ว ที่จะเสนอขึ้นทะเบียน เราก็ยังต้องอกหักกันมาถึง 3 ครั้ง ในช่วง 6 ปีหลังมานี้ครับ

ยื่นพิจารณาครั้งที่ 1 ปี 2558 : ไม่อนุมัติ ยื่นพิจารณาครั้งที่ 2 ปี 2559 : ไม่อนุมัติ ยื่นพิจารณาครั้งที่ 3 ปี 2562 : ไม่อนุมัติ แต่ความพยายามไม่เคยหักหลังคนที่ทุ่มเทครับ สำหรับการยื่นเสนอป่าแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกโลกครั้งที่ 4 ในที่สุด วันที่ 26 กรกฎาคม 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 44 ซึ่งประเทศจีนเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมผ่านระบบทางไกล ก็ได้พิจารณาให้กลุ่มป่าแก่งกระจานของไทยได้รับการบรรจุเข้าเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติครับ

“ผมขอยืนยันว่า นี่ไม่ใช่ปลายทางความสำเร็จของป่าแก่งกระจาน แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ผืนป่าแห่งนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อคนรุ่นปัจจุบันที่มีชีวิตอยู่ในวันนี้ แต่ต้องรักษาไว้ให้ลูกหลานรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต ผมหวังว่ามรดกโลกทางธรรมชาติชิ้นนี้ จะถือเป็นของขวัญจากผม และพวกเราชาวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้แก่พี่น้องชาวไทย ได้มีข่าวน่าชื่นใจกันบ้าง ในท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 นี้” นายวราวุธ กล่าวทิ้งท้าย

อย่างที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวไว้ นี่คือจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ผืนป่า และการบ้านที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมก็คือทำอย่างไร ให้คนไทยรักษาปกป้องผืนป่าแห่งนี้ให้ได้และทำอย่างไรที่จะคงความเป็นมรดกโลกให้ได้เช่นกัน.